ในยุคที่การพัฒนาซอฟต์แวร์มีการแข่งขันสูง องค์กรใดที่สามารถผลิตซอฟต์แวร์ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ย่อมสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาด ซึ่งเครื่องมือ DevOps Tools ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับองค์กรที่ต้องการเพิ่มความเร็วและคุณภาพในการพัฒนาและส่งมอบซอฟต์แวร์ เครื่องมือเหล่านี้สามารถช่วยให้ทีม Developement และทีม Operation ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น ลดข้อผิดพลาด และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
DevOps Tools คืออะไร มีแบบไหนบ้างที่องค์กรสามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน วันนี้ SCB TechX จะมาแนะนำให้รู้จักกันในบทความนี้
เครื่องมือ DevOps คืออะไร?
DevOps Tools คือ ชุดซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันที่ช่วยในการอำนวยความสะดวกในกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เป็นไปตามแนวทาง DevOps ตั้งแต่การวางแผน การพัฒนา การทดสอบ ไปจนถึงการนำไปใช้งานจริง โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การสนับสนุนให้กระบวนการทำงานเป็นไปแบบอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดย DevOps Tools ต่างๆ ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทีมพัฒนา (Development) และทีมปฏิบัติการ (Operation) สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างลื่นไหล เพื่อลดระยะเวลาในการพัฒนาและทดสอบ ลดข้อผิดพลาดในการดำเนินงาน และสามารถส่งมอบผลงานได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ
DevOps Tools มีอะไรบ้าง?
ในปัจจุบัน เครื่องมือ DevOps มีให้เลือกใช้มากมาย โดยแต่ละเครื่องมือถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาและตอบโจทย์การทำงานที่แตกต่างกัน การเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมจึงเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้ทีมสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเราสามารถแบ่งกลุ่มเครื่องมือ DevOps ตามลักษณะการใช้งานได้ 8 ประเภทหลัก ดังต่อไปนี้
1. เครื่องมือควบคุมเวอร์ชัน (Version Control)
เครื่องมือควบคุมเวอร์ชัน (Version Control หรือ Source Control) ถือเป็น เครื่องพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในกระบวนการ DevOps โดยเครื่องมือนี้มีหน้าที่ช่วยให้ทีมสามารถติดตามและจัดการการเปลี่ยนแปลงของซอร์สโค้ด (Source Code) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะเก็บประวัติการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ทำให้สามารถย้อนกลับไปยังเวอร์ชันก่อนหน้าได้เมื่อเกิดปัญหา อีกทั้งยังช่วยให้ทีมพัฒนาสามารถทำงานบนโค้ดเดียวกันได้พร้อมกัน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการทับซ้อนของการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเครื่องมือควบคุมเวอร์ชัน เช่น
- Git: ระบบควบคุมเวอร์ชันที่ได้รับความนิยมสูงสุด ช่วยในการจัดการและติดตามการเปลี่ยนแปลงของโค้ด
- GitHub: แพลตฟอร์มที่ใช้ในการจัดเก็บโค้ดออนไลน์ พร้อมฟีเจอร์การทำงานร่วมกันและการจัดการโปรเจค
- GitLab: ให้บริการครบวงจรทั้งการจัดการโค้ด CI/CD และการจัดการโปรเจคใหญ่ๆ อีกทั้งสามารถ Host Server ได้ด้วย
2. เครื่องมือสำหรับ CI/CD
Continuous Integration (CI) และ Continuous Delivery/Deployment (CD) เป็นหัวใจสำคัญของ DevOps ที่ช่วยให้การพัฒนาและส่งมอบซอฟต์แวร์เป็นไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เครื่องมือในกลุ่มนี้จะช่วยให้กระบวนการต่างๆ ตั้งแต่การรวมโค้ด การทดสอบ ไปจนถึงการ Deploy เป็นไปอัตโนมัติ โดยจะทำงานทันทีที่มีการเปลี่ยนแปลงในระบบ ซึ่งช่วยลดข้อผิดพลาดจากการทำงานแบบแมนนวลและทำให้การส่งมอบซอฟต์แวร์มีความสม่ำเสมอมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น
- Jenkins: เครื่องมือ Open-source ที่ช่วยในการทำ Continuous Integration และ Continuous Delivery มีระบบปลั๊กอินที่หลากหลายกว่า 1,800 ตัว ทั้งยังรองรับการสร้าง Pipeline ที่ซับซ้อนได้
- GitLab CI: ระบบ CI/CD ที่ทำงานร่วมกับ GitLab ทำให้การตั้งค่าและใช้งานง่ายผ่านไฟล์คอนฟิก YAML เดียว สามารถทำ Auto DevOps ที่ช่วยให้การ Deploy เป็นไปโดยอัตโนมัติ มาพร้อมกับ Container Registry และการสแกนความปลอดภัยในตัว
- CircleCI: บริการ Cloud-based CI/CD ที่รองรับการทำงานหลากหลายภาษาและแพลตฟอร์มทั้ง Linux, Windows และ macOS
3. เครื่องมือจัดการคอนฟิกและระบบอัตโนมัติ (Configuration Management Tool)
คือ DevOps Tools ในการจัดการ Configuration และการทำระบบอัตโนมัติเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้การ Deploy และดูแลระบบทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เครื่องมือในกลุ่มนี้ช่วยให้ทีมสามารถกำหนดและจัดการการตั้งค่าระบบในรูปแบบของโค้ด (Infrastructure as Code) ทำให้การสร้างและจัดการสภาพแวดล้อมต่างๆ เป็นไปอย่างอัตโนมัติและสามารถทำซ้ำได้อย่างแม่นยำ ลดความผิดพลาดที่อาจเกิดจากการตั้งค่าด้วยมือ ยกตัวอย่างเครื่องมือที่เป็นที่นิยม เช่น
- Ansible: เครื่องมือจัดการคอนฟิกที่ใช้ YAML syntax ที่อ่านง่าย ไม่ต้องติดตั้งเอเจนต์เพิ่มเติม อีกทั้ง มี Modules มากกว่า 3,000 ตัวสำหรับการจัดการระบบต่างๆ
- Puppet: เครื่องมือจัดการคอนฟิกที่ใช้ภาษา Ruby-like DSL มีความยืดหยุ่นสูง เหมาะสำหรับการจัดการระบบขนาดใหญ่ และตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของระบบได้แบบเรียลไทม์
- Chef: เน้นการเขียนโค้ดเพื่อจัดการโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure as Code) และใช้ภาษา Ruby ในการเขียน Recipes และ Cookbooks ที่กำหนดการตั้งค่าระบบ มีความยืดหยุ่นในการปรับแต่ง จึงเหมาะสำหรับทีมที่มีทักษะการเขียนโปรแกรม และต้องการควบคุมรายละเอียดทุกส่วน
4. เครื่องมือสำหรับ Containerization
Containerization เป็นเทคโนโลยีที่ปฏิวัติวงการ DevOps โดยช่วยให้การแพ็กเกจและ Deploy แอปพลิเคชันทำได้ง่ายและเป็นไปอย่างอิสระจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน (Runtime Environment) ของระบบ เครื่องมือในกลุ่มนี้ช่วยในการสร้าง จัดการ และ Orchestrate Containers ทำให้การขยาย (Scale) ระบบและการจัดการทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยให้การพัฒนาและทดสอบแอปพลิเคชันทำได้ในสภาพแวดล้อมที่เหมือนกับระบบจริง
- Docker: เทคโนโลยี Containerization ที่ช่วยให้การแพ็กเกจและการ Deploy แอปพลิเคชันทำได้ง่ายและสม่ำเสมอ โดย Docker ใช้ทรัพยากรน้อยกว่า Virtual Machines ทำงานได้เร็วกว่า มีระบบนิเวศที่กว้างขวาง นอกจากนี้ยังมี Docker Hub ที่เป็นแหล่งรวม Container Images สำเร็จรูปให้เลือกใช้งาน
- Kubernets (K8s): เป็น DevOps Tools แบบ Open Source ที่พัฒนาโดย Google ซึ่งรองรับการทำงานในระดับ Enterprise มีความสามารถในการ ปรับขนาดระบบอัตโนมัติตามโหลด (Auto-Scaling), จัดการปัญหาที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ (Self-Healing), กระจายโหลดระหว่าง Pods (Load Balancing), อัปเดทระบบแบบต่อเนื่องโดยไม่มี Downtime (Rolling Updates) และ จัดการข้อมูลที่อ่อนไหวอย่างปลอดภัย (Secret Management)
5. เครื่องมือติดตามและตรวจสอบ (observability)
การติดตามและตรวจสอบระบบเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ทีมสามารถตรวจจับและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เครื่องมือในกลุ่มนี้ช่วยในการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ประสิทธิภาพ และแสดงผลการทำงานของระบบแบบเรียลไทม์ ทำให้ทีมสามารถเข้าใจพฤติกรรมของระบบ ตรวจจับปัญหา และตัดสินใจปรับปรุงระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- Prometheus: ระบบเก็บข้อมูลและติดตามประสิทธิภาพแบบ Time-Series ที่ออกแบบมาเพื่อการติดตามระบบสมัยใหม่ โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมแบบ Cloud-Native ซึ่งมีการเก็บข้อมูลแบบ Multi-Dimensional มีภาษา PromQL สำหรับการทำ Query ข้อมูล ทั้งยังรองรับการทำงานแบบ Federation และ Clustering
- Grafana: เครื่องมือสร้างแดชบอร์ดที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถแสดงข้อมูลจากหลากหลายแหล่งได้ในที่เดียว สร้างกราฟและแดชบอร์ดแบบ Drag-and-Drop รองรับการทำ Alerting หลายรูปแบบ มีระบบ Permission ที่ละเอียด และสามารถ Export แดชบอร์ดได้
- ELK Stack: ชุดเครื่องมือสำหรับการจัดการ Log ประกอบด้วย Elasticsearch, Logstash และ Kibana
6. เครื่องมือทดสอบ (Automate test tool)
เครื่องมือ DevOps Tools ในการทดสอบเป็นสิ่งสำคัญในการรับประกันคุณภาพของซอฟต์แวร์ ช่วยให้ทีมสามารถทำการทดสอบอัตโนมัติในทุกระดับ ตั้งแต่ Unit Testing, Integration Testing ไปจนถึง End-to-End Testing ทำให้สามารถตรวจจับปัญหาได้เร็วขึ้น และมั่นใจได้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อฟังก์ชันการทำงานที่มีอยู่เดิม
- Selenium: เครื่องมือทดสอบอัตโนมัติสำหรับเว็บแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมสูง โดยรองรับการทดสอบบนเบราว์เซอร์หลัก (Chrome, Firefox, Safari, Edge) พร้อมภาษาโปรแกรมมิ่งหลากหลายทั้ง Java, Python, C# และ JavaScript อีกทั้งยังมีเครื่องมือ Selenium Grid สำหรับการทดสอบแบบขนาน และสามารถจำลองการใช้งานของผู้ใช้ได้อย่างสมจริง
- JUnit: เฟรมเวิร์กมาตรฐานสำหรับการทดสอบในภาษา Java ที่มีคุณสมบัติหลากหลาย รองรับการทดสอบแบบ Unit Test และ Integration Test มีระบบ Annotations ที่ใช้งานง่าย สามารถทำ Parameterized Testing ได้ มีระบบ Assertions ที่หลากหลาย สามารถทำงานร่วมกับเครื่องมือ Build Automation เช่น Maven และ Gradle ด้วย
- pytest: เครื่องมือทดสอบยอดนิยมสำหรับภาษา Python ที่มีความยืดหยุ่นสูง รองรับ Fixtures สำหรับการจัดการสภาพแวดล้อมการทดสอบ มีระบบ Plugin ที่หลากหลาย อีกทั้งยังสามารถทำ Parallel Testing ได้ด้วย
7. เครื่องมือจัดการโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure-as-code software tool)
จัดการโครงสร้างพื้นฐานเป็นส่วนสำคัญในการสร้างและดูแลระบบให้มีเสถียรภาพ เครื่องมือ DevOps Tools ในกลุ่มนี้ช่วยให้ทีมสามารถจัดการทรัพยากรคลาวด์และโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบของโค้ด ทำให้การสร้าง ปรับเปลี่ยน และจัดการทรัพยากรทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- Terraform: เครื่องมือ Infrastructure as Code ที่ได้รับความนิยม เนื่องจากสามารถรองรับผู้ให้บริการคลาวด์เช่น AWS, Azure และ GCP โดยเครื่องมือนี้ใช้ภาษา HCL (HashiCorp Configuration Language) ที่เข้าใจง่าย สามารถวางแผนการเปลี่ยนแปลงก่อนดำเนินการจริง มีระบบ Modules สำหรับการนำโค้ดกลับมาใช้ใหม่
- CloudFormation: บริการจัดการโครงสร้างพื้นฐานของ AWS ที่รองรับการใช้งานทั้ง YAML และ JSON มีระบบ Change Sets สำหรับการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลง สามารถสร้าง Template สำหรับใช้ซ้ำ มีระบบ Drift Detection สำหรับตรวจจับการเปลี่ยนแปลงนอกระบบ และรองรับการทำ Rollback อัตโนมัติ หากเกิดข้อผิดพลาด
8. เครื่องมือสำหรับการทำงานร่วมกัน (collaboration platform)
การสื่อสารและการทำงานร่วมกันระหว่างทีม Development และ Operation ที่มีประสิทธิภาพเป็นหัวใจสำคัญของ DevOps โดยเครื่องมือในกลุ่มนี้ช่วยให้ทีมสามารถแชร์ข้อมูล ติดตามความคืบหน้า และประสานงานกันได้อย่างราบรื่น
- Slack: แพลตฟอร์มการสื่อสารที่มีความสามารถในการผสานรวมกับเครื่องมือ DevOps อื่นๆ ซึ่งรองรับการแจ้งเตือนจากระบบ CI/CD การแชร์โค้ด และไฟล์ต่างๆ
- Microsoft Teams: โซลูชันการทำงานร่วมกันที่ผสานรวมกับระบบต่างๆ ของ Microsoft สามารถเชื่อมต่อกับ Azure DevOps รองรับการประชุมและการแชร์หน้าจอ ไปจนถึงการทำงานร่วมกันแบบเรียลไทม์บนแอปพลิเคชันต่างๆ ใน Microsoft 365
DevOps Tools ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาซอฟต์แวร์ยุคใหม่ ที่ช่วยให้ทีม DevOps สามารถเพิ่มความเร็วในการพัฒนา ปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ การใช้เครื่องมือเหล่านี้ช่วยให้ทีมสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดข้อผิดพลาดในการทำงาน และสร้างกระบวนการทำงานที่สามารถทำซ้ำได้อย่างแม่นยำ
อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้เครื่องมือ DevOps ที่หลากหลายอาจก่อให้เกิดความซับซ้อนในการจัดการและส่งผลให้มีต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้น องค์กรควรพิจารณาเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับขนาดและความต้องการของทีม
แนะนำ xPlatform แพลตฟอร์ม DevOps จาก SCB TechX
SCB TechX พร้อมให้บริการ xPlatform เพื่อแก้ปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นในระหว่างขั้นตอนการพัฒนาแอปพลิเคชันหรือซอฟต์แวร์ โดยมีแพ็กเกจให้เลือก 2 แบบ คือ
Professional Package
สำหรับองค์กรขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เป็นแแพ็กเกจมาตรฐานที่ xPlatform ได้ออกแบบ DevOps Best Practices ไว้ เพียงลูกค้าสมัครใช้งาน ก็สามารถเข้าใช้งาน แบบ Shared Executor บนพื้นฐาน Ecological System ของแพลตฟอร์มได้ทันที
Enterprise Package
สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ในระดับ Enterprise-grade ลูกค้าจะมี Workflow Executor Account บน Server เฉพาะขององค์กรเท่านั้น รวมทั้งมีระบบ Network และระบบ Security เพิ่มเติม สามารถติดตั้งระบบยืนยันตัวตนเข้าใช้งานตามหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานภายในองค์กรของตนเอง ทำให้องค์กรสามารถควบคุมสิทธิ์การเข้าถึง Environment และ Data ต่างๆ ได้ดีขึ้น
หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญงานพัฒนาซอฟต์แวร์ สามารถติดต่อทีม xPlatform ของเราได้ที่ contact@scbtechx.io