ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเทคโนโลยี blockchain และ cryptocurrency ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาหลาย ๆ ด้าน ในโครงการต่าง ๆ เช่น Firo (FIRO) cryptocurrency ที่ช่วยเรื่องความเป็นส่วนตัว (privacy) สำหรับการทำธุรกรรมบน blockchain หรือ Filecoin (FIL) ที่มุ่งสร้างเครือข่ายการเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (decentralized storage network) เป็นต้น ในส่วนของบทความนี้อยากกล่าวถึงแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจในการนำ blockchain และ cryptocurrency มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) กัน
Carbon Offset, Carbon Credit & Carbon Market
ก่อนที่จะพูดถึงการประยุกต์ใช้ blockchain เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน อยากชวนมาทำความรู้จักกับ carbon offset และ carbon credit ซึ่งถือเป็นกลไกทางบัญชีที่นำมาใช้ในการควบคุมมลภาวะด้วยการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas หรือ GHG) ในชั้นบรรยากาศ
ถึงแม้คำว่า carbon offset และ carbon credit จะถูกใช้แทนกันโดยทั่วไป แต่ตามหลักการแล้วมีข้อแตกต่างที่สำคัญคือ carbon offset จะเป็นตัวแทนปริมาณ carbon ที่ถูกดูดซับออกจากบรรยากาศ เช่น การปลูกป่าซึ่งส่งผลในการลดก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศจะทำให้เกิด carbon offset ในขณะที่ carbon credit นั้น ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือปริมาณ carbon ที่อนุญาตให้ผู้ถือ credit นั้น ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งโดยทั่วไป 1 หน่วยของ carbon offset หรือ carbon credit จะแทนปริมาณ carbon 1 ตัน
ส่วนตลาดคาร์บอน หรือ carbon market ก็คือตลาดสำหรับซื้อขาย carbon offset หรือ carbon credit นั่นเอง โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
- ตลาดคาร์บอนแบบทางการ (compliance carbon market) หรือ ตลาดที่มีการควบคุมและกำกับดูแลโดยภาครัฐ เช่น European Union Emissions Trading System (EU ETS) ซึ่งเป็นรูปแบบ cap-and-trade โดยภาครัฐจะมีการจำกัดปริมาณคาร์บอนที่อนุญาตให้บริษัทหรือกิจการปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ โดยถ้ามีความต้องการปล่อยคาร์บอนเกินปริมาณที่ระบุไว้ จะต้องทำการซื้อ carbon credit เพื่อเพิ่มปริมาณที่ถูกจำกัดในการปล่อยคาร์บอน
- ตลาดคาร์บอนแบบสมัครใจ (voluntary carbon market) ที่ส่งเสริมให้มีการซื้อขาย carbon offset สำหรับกิจกรรมท่ีมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากแบบสมัครใจ โดยไม่ได้ใช้กฎหมายบังคับ ซึ่งในไทยเราเองก็มีการจัดตั้งและส่งเสริมตลาดคาร์บอนแบบสมัครใจโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน
จะเห็นได้ว่า carbon offset / credit โดยพื้นฐานแล้วก็คือ ปริมาณคาร์บอนที่ดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศหรืออนุญาตให้ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีมาตรฐานในการวัดและตรวจสอบที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับเพื่อที่จะนำมาซื้อ-ขายกันในตลาดคาร์บอน
สำหรับตลาดคาร์บอนแบบเป็นทางการนั้น การวัดและตรวจสอบรับรองอาจกระทำโดยหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก แต่ถ้าเป็นส่วนของตลาดคาร์บอนแบบสมัครใจนั้น Verra ถือเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับในการเป็นผู้ตรวจสอบและรับรอง carbon offset / credit ซึ่งข้อมูลของโครงการต่าง ๆ และปริมาณ carbon offset / credit จะถูกบันทึกลงใน Verra Registry
Bridging Carbon Offset / Credit from Off-chain to On-chain
โดยทั่วไปข้อมูลและใบรับรอง carbon offset / credit ที่ถูกจัดเก็บไว้ในระบบอย่าง Verra Registry นั้นไม่ได้อยู่บน blockchain (off-chain) ดังนั้นหากต้องการนำ carbon offet / credit ขึ้นไปใช้งานบน blockchain เช่น ตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนแบบ decentralized exchange (DEX) จะต้องมีการแปลง carbon offset / credit ให้อยู่ในรูปแบบ token หรือที่เรียกว่า tokenization เสียก่อน
โครงการอย่าง Toucan Carbon Bridge หรือ MOSS เป็นตัวกลางที่จะช่วยทำการแปลง carbon offset / credit จาก off-chain registry สู่ on-chain โดยปริมาณของ carbon offset / credit จะถูกแปลงให้อยู่ในรูปแบบของ token ต่าง ๆ เช่น TCO2 หรือ MCO2 เป็นต้น โดย carbon offset / credit ที่ถูกนำเข้าสู่ blockchain จะมีค่าที่อ้างอิงว่ามาจาก carbon offset / credit หน่วยใดใน registry แบบ off-chain และทำการ retire carbon offset / credit แบบ off-chain นั้นไปเพื่อไม่ให้มีการนำมาซื้อ-ขายหรือใช้ซ้ำ
การนำ carbon offset / credit จาก off-chain สู่ on-chain นั้น ทำให้ได้ประโยชน์จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี blockchain ก็คือ ความโปร่งใส (transaparency) ป้องกันการแก้ไข (tamper-proof) สามารถติดตามตรวจสอบได้ (tracability) และป้องกันการถูกนำไปใช้ซ้ำซ้อน (double spending) รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้มีการนำแนวคิด crypto-carbon economy เข้ามาใช้ในการช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอีกด้วย
Carbon-backed Cryptocurrency
Klima DAO (KLIMA) เป็นหนึ่งในหลาย ๆ โครงการที่ต่อยอดหรือ fork มาจาก Olympus DAO (OHM) ที่ริเริ่มแนวคิดที่ให้ตัว protocol มีสภาพคล่องเป็นของตัวเอง (protocol owned liquidity หรือ POL) เพื่อแทนที่สภาพคล่องจาก yield farming ซึ่งกลไก POL นี้ทำให้ตัว protocol สามารถสะสมสินทรัพย์ต่าง ๆ (assets) ไว้ในคลัง (treasury) เพื่อใช้ในการสร้างสกุลเงินสำรอง (reserve currency) ขึ้นมาสำหรับ protocol นั้น ๆ แบบเดียวกับที่เมื่อก่อนธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ สำรองทองคำไว้ในคลังเพื่อ back มูลค่าของสกุลเงินของประเทศ
ในกรณีของ Klima DAO นั้น สินทรัพย์ที่นำมาสะสมไว้ในคลังก็คือ token ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนปริมาณ carbon offset ที่ถูกนำเข้าสู่ระบบ blockchain จากโครงการอย่าง Toucan Carbon Bridge (BCT token) หรือ MOSS (MCO2 token) ที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้น โดย token ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสกุลเงินสำรอง สำหรับสินทรัพย์ที่อยู่ในคลังของ Klima DAO ก็คือ KLIMA ดังนั้นสกุลเงิน KLIMA จะถือได้ว่าเป็น cryptocurrency ที่ถูก back ด้วย carbon offset นั่นเอง
Crypto-Carbon Economy
แนวคิดเบื้องต้นของ Klima DAO นั้นก็คือ การทำให้ราคาสินทรัพย์ที่เป็น carbon offset ใน voluntary carbon market นั้นมีราคาสูงเพื่อกระตุ้นให้บริษัทต่าง ๆ พยายามลดการปล่อย carbon เข้าสู่ชั้นบรรยากาศแทนที่จะซื้อ carbon offset เพื่อรองรับการปล่อย carbon จากกิจการของตนเอง
ซึ่งกลไกนี้จะสามารถเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีคนเข้ามาถือ cryptocurrency อย่าง KLIMA จำนวนมาก เนื่องจาก 1 KLIMA ถูก back ด้วย carbon offset อย่างน้อย 1 ตัน ซึ่งส่งผลให้มีการ retire carbon offset จาก off-chain มากขึ้นนั่นเอง
โดยหลักการนี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อ KLIMA DAO เสนอแรงจูงใจในรูปแบบผลประโยชน์ที่มากพอในการถือ KLIMA token ผ่านรูปแบบต่าง ๆ เช่น staking หรือ bonding
หรือไม่ก็ต้องมีความเชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนจากผู้คนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากพอ เพื่อที่จะมีการซื้อ token อย่าง BCT เพื่อดึง supply ออกจากระบบ และนำมาล็อคไว้ในคลังของ Klima DAO ซึ่งจะทำให้ Klima DAO สามารถควบคุม demand และ supply ของ KLIMA token ด้วยการมิ้นท์ (mint) หรือเบิร์น (burn) token เพื่อชี้นำราคาของ carbon offset ได้
Closing thoughts
จะเห็นได้ว่าในการระดมทุนในขั้นต้นเพื่อ retire carbon offset ออกจากตลาดนั้น ตามแนวคิดของ KLIMA DAO ทำให้ต้องให้ผลประโยชน์หรือ APY ที่สูงมาก เพื่อจูงใจให้มีคนเข้ามาร่วมโครงการ ซึ่งส่งผลให้คนที่เข้ามาถือ KLIMA นั้น อาจทำด้วยผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมในการ retire carcon offset เพราะโครงการอย่าง Toucan Carbon Bridge ก็เป็นช่องทางที่ดูตรงไปตรงมาที่ให้ผู้คนสามารถซื้อ carbon offset เพื่อ retire ออกจากตลาดได้อยู่แล้ว
รู้หมือไร่
- ประเทศไทยของเราตั้งเป้าเป็นประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือปริมาณการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณการดูดซับคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศ (carbon neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050
- เป้าหมายถัดไปคือการเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี ค.ศ. 2065
- และเพื่อเป็นการส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก ประเทศเรามีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Project : T-VER) ที่สามารถนำ carbon offset / credit ที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ T-VER นี้ ไปจำหน่ายในตลาดคาร์บอนแบบสมัครใจในประเทศได้ด้วยนะ
Disclaimer
บทความนี้กล่าวถึง blockchain, token และ cryptocurrency ในแง่ของแนวคิดและหลักการในการนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เท่านั้น ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการแนะนำด้านการลงทุนหรือเก็งกำไรแต่อย่างใด