ในการทำธุรกรรมออนไลน์ ทั้งในนามบุคคลและนิติบุคคลแน่นอนว่าต้องมีการใช้เอกสารต่างๆ ที่มีการลงนามหรือลายเซ็นเพื่อยืนยันตัวตนเสมอ ซึ่งหลายคนอาจคุ้นเคยกับวิธีดั้งเดิมคือการสแกนเอกสารที่มีลายเซ็นและอัปโหลดขึ้นไปยังฐานข้อมูล แต่ในทุกวันนี้จะเห็นได้ว่าหลายๆ องค์กรเริ่มเปลี่ยนระบบการลงนามมาเป็นแบบดิจิทัลหรือ eSignature กันมากขึ้น
สำหรับผู้ประกอบธุรกิจหน้าใหม่ ต้องบอกเลยว่า eSignature คือสิ่งที่สำคัญและมีประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างมาก แล้วจะมีรายละเอียดอะไรบ้างที่ธุรกิจควรทราบ? SCB TechX จะมาเฉลยให้กระจ่างในบทความนี้
eSignature คืออะไร?
eSignature มีชื่อเต็มว่า “Electronic Signature” แปลเป็นไทยคือ “ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์” ที่มีไว้สำหรับยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของลายเซ็นกับข้อมูลที่ระบุในเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (eDocument) โดยใช้เทคโนโลยีในการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้เซ็นสามารถที่จะใช้ “ลายมือ” ในรูปแบบตัวอักษร อักขระ ตัวเลข สัญลักษณ์ หรือเสียง ที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือได้
ตัวอย่างของรูปแบบ eSignature หรือลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่พบได้บ่อย:
- การพิมพ์ชื่อไว้ท้ายเนื้อหาของอีเมล
- การสแกนภาพของลายมือชื่อที่เขียนด้วยมือและแนบไปกับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์
- การใช้ปากกาสไตลัส (Stylus) เซ็นชื่อลงบนหน้าจอและบันทึกไว้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
- การคลิกปุ่ม “Submit” หรือ “ยอมรับ” หรือ “ตกลง”
- การทำเครื่องหมายในช่องแสดงการยอมรับ
พูดได้เลยว่า แม้ไม่เคยได้ยินหรือรู้จักมาก่อน หลายคนก็อาจเคยได้เซ็น eSignature กันอยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อต้องทำธุรกรรมออนไลน์อย่างการเปิดบัญชีธนาคาร เปิดบัญชี e-Wallet หรืออนุมัติ e-Payment รวมไปถึงการยืนยันคำสั่งซื้อออนไลน์
นอกจากนี้ ยังมี Digital Signature ที่เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของลายเซ็นที่หลายคนอาจเคยได้ยินผ่านหูกันมา จนทำให้เกิดความรู้สึกสับสนหรือเข้าใจผิดว่าเป็นอันเดียวกันกับ eSignature แต่ความจริงแล้ว ลายเซ็นทั้งสองรูปแบบนี้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
Digital Signature คืออะไร?
Digital Signature คือ การลงนามด้วยลายมือชื่อดิจิทัลรูปแบบหนึ่งที่ได้จากกระบวนการเข้ารหัสลับ (Encrypt) หรือใบอนุญาต (License) มายืนยันข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะยืนยันตัวตนผ่านการเซ็นชื่อเท่านั้น ซึ่งเปรียบลายเซ็นเป็นเหมือน “ลายนิ้วมือ” จึงสามารถตรวจสอบตัวตนของผู้เซ็นและการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลที่เกิดขึ้นได้
ดังนั้น Digital Signature จึงมีความมั่นคง ปลอดภัย และความน่าเชื่อถือมากกว่า เพราะสามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นผู้ลงนาม เซ็นเอกสารอะไร เวลาไหน และตรวจสอบได้ว่ามีการแก้ไขเอกสารหลังลงนามหรือไม่
เปรียบเทียบ eSignature กับ Digital Signature ให้เห็นกันชัดๆ
สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ได้ว่า ระหว่าง eSignature กับ Digital Signature มีความแตกต่างกันที่รูปแบบการเข้ารหัสและระดับความปลอดภัย โดย Digital Signature เป็นการลงนามด้วยลายมือชื่อดิจิทัลที่มีความปลอดภัยสูง เหมาะกับเอกสารสำคัญหรือเอกสารขององค์กรที่มีความเสี่ยงถูกปลอมแปลง ส่วน eSignature เป็นลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่มีการเข้ารหัสลับ (Encrypt) หรือใบอนุญาต (License) จึงเหมาะกับการเซ็นเอกสารทั่วไป อย่างการพิมพ์ลงท้ายในอีเมล หรือเป็นไฟล์ลายเซ็นที่สแกนเข้าไปในคอมพิวเตอร์ เพราะแม้จะตรวจสอบได้ว่าเจ้าของลายเซ็นคือใคร แต่ก็ทำได้ยากกว่า
eSignature (ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์)
- เป็นลายเซ็นที่ใช้สำหรับยืนยันความถูกต้องของเนื้อหาในเอกสารอิเล็กทรอนิกส์
- ไม่มีใบรับรองจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้
- มีลายเซ็นหลากหลายรูปแบบ เช่น การสแกนภาพของลายมือ วาจา สัญลักษณ์
- มีความปลอดภัยน้อยกว่า Digital Signature
- เหมาะสำหรับการแสดงเจตจำนงหรือยินยอมเนื้อหาในสัญญา
Digital Signature (ลายเซ็นดิจิทัล)
- เป็นลายเซ็นที่ใช้สำหรับยืนยันและรักษาความปลอดภัยของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์
- มีใบรับรอง (License) และการเข้ารหัสลับ (Encrypt) ป้องกันข้อมูล ซึ่งถูกควบคุมโดยหน่วยงานที่มีหน้าที่ออกใบรับรองดิจิทัล
- เปรียบให้ลายเซ็นเป็นเหมือนกับ “ลายนิ้วมือ” ที่สามารถตรวจสอบได้ จึงมีความถูกต้อง แม่นยำในระดับสูงกว่า E-Signature
- เหมาะสำหรับเอกสารที่ต้องการความปลอดภัยของข้อมูลเป็นพิเศษ
กฎหมาย eSignature และพรบ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
หากใครที่สงสัยว่าในประเทศไทยมีกฎหมาย e-signature อยู่หรือไม่? ขอตอบเลยว่าในประเทศไทยจะเรียกว่ากฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ที่ได้รองรับการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้มีผลรับรองทางกฎหมาย เช่นเดียวกับการลงลายมือชื่อบนเอกสารกระดาษ หมายความว่า e-Signature และ Digital Signature มีผลทางกฎหมายทั้งคู่ และมีผลเช่นเดียวกับการเซ็นบนกระดาษ ซึ่งเราสามารถแบ่งประเภทของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้เป็น 3 ประเภท ตามเกณฑ์การรองรับของกฎหมาย ดังนี้
- มาตรา 9 ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์แบบทั่วไป
ประเภทลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป ก็คือ eSignature ที่อาจเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบอักษร อักขระ สัญลักษณ์ การกดปุ่ม “ตกลง” รวมไปถึงรูปแบบลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งใช้งานง่าย สะดวกรวดเร็ว และ “ยอมรับได้” ในทางกฎหมาย แต่หากว่ามีข้อพิพาทเกิดขึ้น อาจจะทำให้การพิสูจน์เป็นไปได้ยาก - มาตรา 26 ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้
คือ การลงนามด้วยลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ที่มีมาตรการป้องกันการปลอมแปลงเอกสาร แก้ไขเนื้อหาเอกสาร หรือขโมยข้อมูล สามารถตรวจสอบได้ด้วยกระบวนการเข้ารหัส โดยทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ได้มีการยกตัวอย่างลายเซ็นดิจิทัลชนิดนี้ว่า เป็นลายเซ็นที่อาศัย Public Key Infrastructure (PKI) หรือโครงสร้างพื้นฐานกุญแจสาธารณะอีกด้วย - มาตรา 28 ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้และผ่านการรับรอง
มีลักษณะคล้ายกับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทที่ 2 ที่มีระบบป้องกันการปลอมแปลงลายเซ็น ป้องกันการแก้ไขเนื้อหาเอกสาร แต่จะอาศัยใบรับรอง Certificate Authority (CA) ที่ได้มาจากผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ร่วมด้วย ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถค้นหาและตรวจสอบการระบุตัวตนของเจ้าของลายเซ็นนั้นๆ ได้
ประโยชน์ของการใช้ eSignature และ Digital Signature
พอได้ทราบถึงเรื่องของ eSignature กันไปบ้างแล้ว เชื่อว่าผู้ประกอบการหลายๆ คนคงเห็นแล้วว่า eSignature สามารถให้ประโยชน์กับธุรกิจหรือองค์กรได้อย่างไร โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลนี้ที่การทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์กลายมาเป็นช่องทางหลักของผู้บริโภคทั่วโลก ดังนั้นมาดูข้อดีต่างๆ ของการใช้ “ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์” กันเลย
- ลดค่าใช้จ่ายของธุรกิจ
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการลงนามด้วยลายมือชื่อดิจิทัลสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนกระดาษ ต้นทุนการพิมพ์ พื้นที่จัดเก็บ ค่าส่งเอกสาร รวมไปถึงต้นทุนด้านเวลาอีกด้วย เพราะไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเซ็นเอกสารและส่งจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งเลยนั่นเอง - ความสะดวกสบาย
ผู้ใช้งานหรือลูกค้าสามารถลงลายมือชื่อลงบนเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวก ผ่านแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสามารถทำได้ทั้งบนสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ จึงไม่ต้องเดินทางไปยังสาขาหรือสำนักงาน ส่วนฝั่งองค์กรก็สามารถรับเอกสารผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทันท่วงที ส่งผลให้การดำเนินการเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว - มีความปลอดภัยสูง
โดยเฉพาะการลงลายมือชื่อแบบ Digital Signature มีระบบพิสูจน์ตัวตนในการเซ็นเอกสาร และมีการเข้ารหัสลับในการเข้าถึงหรือตรวจสอบเอกสาร ด้วยเทคโนโลยีเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานกุญแจสาธารณะหรือ Public Key Infrastructure (PKI) - รับรองและมีผลทางกฎหมาย
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น การลงลายมือผ่าน eSignature นั้นมีผลรับรองทางกฎหมาย หากเกิดการเปลี่ยนแปลง ปลอมแปลง หรือข้อพิพาทใดๆ ทางธุรกิจจึงสามารถยื่นคำร้องต่อศาลได้
จากทั้งหมดที่เราได้มาแนะนำเกี่ยวกับ eSignature ในวันนี้ ผู้ประกอบธุรกิจคงจะเห็นชัดแล้วว่า “ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์” นั้นสามารถเข้ามายกระดับธุรกรรมออนไลน์ได้ดีเพียงไหน เพราะนอกจากจะมีระบบความปลอดภัยสูงแล้ว ยังให้ความสะดวก รวดเร็ว ต่อทั้งองค์กรและลูกค้า อีกทั้งมีการรับรองทางกฎหมาย ช่วยให้การดำเนินงานของธุรกิจและองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับธุรกิจใดที่สนใจในการทำ eSignature แล้ว ต้องไม่ลืมที่จะนึกถึง eKYC ที่มีความสำคัญในการระบุและพิสูจน์ตัวตนของลูกค้าก่อนทำธุรกรรมออนไลน์เป็นอย่างยิ่ง สามารถขอคำปรึกษาการวางระบบยืนยันตัวตนดิจิทัล และโซลูชันทางเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เหมาะกับธุรกิจของคุณกับ SCB TechX ได้เลยวันนี้
สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการของ SCB TechX ได้ที่
Email: contact@scbtechx.io
ดูรายละเอียดบริการยืนยันตัวตน eKYC (e-KYC Thailand) คลิก
ติดตาม SCB TechX เพื่อข่าวสารและอัปเดตใหม่ๆ ก่อนใคร
Facebook: SCB TechX
Medium: medium.com/scb-techx
LinkedIn: www.linkedin.com/company/scb-tech-x/
YouTube: SCB TechX