แชร์อะไรดีสำหรับคนไม่มีอะไรจะแชร์

ไทย

share scb techx
Photo by CardMapr.nl

การทำ Knowledge Sharing เป็นรูปแบบหนึ่งของการกระจายความรู้ที่นิยมทำกันทั้งในกลุ่มผู้มีความสนใจในเรื่องเดียวกันหรือในองค์กรจำนวนมาก โดยรูปแบบที่นิยมกันมากคือรูปแบบการเขียน (Writing) และรูปแบบการพูด-บอกเล่า (Public Speaking) หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (Panel Discussion) ซึ่งสำหรับบางคนแล้วอาจจะมีความต้องการ (Volunteery) หรือความจำเป็น (Obligation) ที่จะต้องคิดหาอะไรซักอย่างมาแชร์ ซึ่งการ “หาเรื่องมาแชร์” นี้อาจจะง่ายสำหรับบางคนและยากมากสำหรับบางคนเช่นกัน ซึ่งบทความนี้จะมาทำการช่วยค้นหาสิ่งที่จะแชร์กัน

ทำไมต้องแชร์?
ด่านแรกของการแชร์ คือการตอบคำถามตัวเองว่า “เราจะได้อะไรจากการแชร์” ซึ่งเมื่อเรารับรู้ถึงประโยชน์ที่ตัวเราจะได้รับแล้ว จะสามารถตอบเป้าหมายและเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเนื้อหาที่เราต้องการจะแชร์ได้ง่ายขึ้น

เรื่องแรกที่จะต้องเข้าใจตรงกันก่อนคือจุดประสงค์และประโยชน์ของการทำ Knowledge Sharing ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับคนอ่าน คนฟัง หรือเรียกว่า “ผู้รับ” (Recipient) นั้นประโยชน์ที่ได้รับค่อนข้างชัดเจนเช่น ได้มีแหล่งความรู้ต่างๆ ให้ได้เข้าถึงมากขึ้น ประหยัดเวลาไม่ต้องไปหาความรู้เอง เป็นต้น แต่สำหรับผู้ที่ต้องเป็นคนหาข้อมูลหรือให้ความรู้คนอื่น หรือเรียกว่า “ผู้แชร์” (Sharer) นั้นการต้องคิดหาเรื่อง เรียบเรียงความรู้ กลั่นกรองออกมา ต้องใช้ทั้งเวลาและพลังงานอย่างมาก คนกลุ่มนี้จะได้อะไรจากการแชร์

ก่อนที่จะยกตัวอย่างประโยชน์ที่ผู้แชร์ได้รับ จะต้องกล่าวถึงสภาพสถานะทางสังคมของคนในปัจจุบัน โดย “สังคม” ดังกล่าวหมายถึง กลุ่มผู้มีอาชีพคล้ายกัน เช่น Software Developer หรือกลุ่มที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน เช่น กลุ่มผู้ชื่นชอบสุนัข หรือกลุ่มผู้สนใจในเทคโนโลยี Blockchain เป็นต้น ซึ่งในยุคสมัยปัจจุบันที่มี Social Network มากมายให้เลือกใช้ทำให้การสร้าง “สถานภาพทางสังคม” นั้นทำได้ง่ายมากขึ้นด้วย โดยหนึ่งในทางเลือกในคือ การทำ Knowledge Sharing ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งสถานภาพนี้สามารถต่อยอดได้มากมายทั้งในด้านอาชีพและธุรกิจ

Fun Fact: การเขียนบทความความรู้แบบมืออาชีพ ที่ผ่านการยิงโฆษณาเพื่อให้ผู้อ่านได้รับรู้ (สร้างภาพ) ตัวตนของผู้เขียน เป็นช่องทางเริ่มต้นรูปแบบหนึ่งของการเป็น Life Coach

ในด้านอาชีพและธุรกิจ การสร้างสถานะทางสังคมผ่าน Knowledge Sharing นั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของการสร้าง Portfolio เพื่อให้คนรู้จัก ส่งผลให้ผู้แชร์ได้รับการยอมรับ ในฐานะผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ซึ่งทำให้ง่ายต่อการติดต่อธุรกิจหรือการสมัครงาน ตัวอย่างเช่น ผู้เขียนบทความเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ มักจะได้รับการเรียกสัมภาษณ์และมี First Impression ที่ดีกว่าคนที่ไม่เคยมีการแชร์ความรู้ใดๆ

ในด้านสังคมและการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เกี่ยวกับงาน การทำ Knowledge Sharing นั้นเป็นช่องทางหนึ่งในการที่ผู้แชร์จะได้แสดงความคิดเห็น จุดยืน หรือความสนใจของตนเอง สู่โลกภายนอก ซึ่งจะทำให้ผู้แชร์มีโอกาสได้รู้จัก พบปะ หรือได้รับความสนใจจากกลุ่มคนที่มีความสนใจใกล้เคียงกันด้วย

นอกจากน้ีในด้านการพัฒนาตนเอง ผู้แชร์จะได้ฝึกฝนทักษะในการเขียนและการพูด ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญของการทำงานหรือทำธุรกิจในปัจจุบัน รวมถึงเป็นหนึ่งในวิธีการพัฒนาความสามารถในการเข้าสังคมอีกด้วย ดังนั้นการแชร์จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือของผู้มีบุคลิกแบบ Introvert ที่พยายามพัฒนาตนเองอีกด้วย

แชร์อะไรดี

share scb techx1

เมื่อเราตัดสินใจแล้วว่าอยากจะเป็นผู้แชร์ ถัดมาคือ “แล้วเราจะแชร์อะไรดีล่ะ” ซึ่งการเลือกเนื้อหา (Content) ที่เราต้องการจะแชร์จะมีมากมายหลายวิธี แต่สำหรับคนที่ไม่รู้จะแชร์อะไร บทความนี้จะแนะนำวิธีง่ายๆดังนี้

อันดับแรกกำหนดเป้าหมายและผลลัพธ์ที่เราอยากได้จากการแชร์ โดยอ้างอิงจากประโยชน์ของการแชร์ข้างต้น 3 รูปแบบ คือ แชร์เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน (Work) แชร์เพื่อนำเสนอรูปแบบการใช้ชีวิต (Lifestyle) และแชร์เพื่อการพัฒนาตนเอง (Self Improvement) โดยแต่ละกลุ่มมีแนวทางแนะนำเบื้องต้นดังนี้

แชร์เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน (Work)
สำหรับผู้ที่มีเป้าหมายในการสร้าง Portfolio เพื่อบันทึกข้อมูลการทำงานหรือวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ หรือเพื่อสร้างภาพลักษณ์ในฐานะผู้รู้ (Guru) เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ โดยวิธีการหาหัวข้อที่เราต้องการจะแชร์ในกรณีนี้จะเป็นการมองหาจากเรื่องใกล้ตัวและเป้าหมายในชีวิตเช่น

  • วิธีแก้ปัญหาที่พบในการทำงาน (Guide) ซึ่งเรื่องเหล่านี้มักจะถูกมองข้ามไป เนื่องจากเมื่อปัญหาต่างๆถูกแก้แล้ว โดยธรรมชาติเรามักจะคิดว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหา แต่สำหรับคนที่เริ่มทำงานใหม่หรือเจอปัญหาครั้งแรก บทความง่ายๆเหล่านี้เป็นตัวช่วยที่สามารถช่วยได้อย่างมาก
  • สรุปเนื้อหา (Summary) เมื่อเราได้ทำการศึกษาหรือเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ แล้วสามารถสรุปเรื่องดังกล่าวมาเป็นบทความ ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์กับผู้รับแล้วยังทำให้เราสามารถที่จะเรียบเรียงและยืนยันความเข้าใจของเราได้อีกด้วย ทั้งนี้การสรุปเนื้อหาควรสอดแทรกด้วยการนำเสนอความเห็น หรือจับประเด็นๆต่าง เพื่อแสดงให้ผู้รับเห็นถึงความสามารถของผู้แชร์ด้วยจึงจะเกิดประโยชน์ตามเป้าหมาย
  • วิเคราะห์เรื่องที่กำลังเป็นที่สนใจ (Analysis) เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมากและให้ผลประโยชน์ต่อผู้แชร์ค่อนข้างชัดเจน โดยการวิเคราะห์ ให้ความเห็น ในสิ่งที่เรารู้หรือมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ผนวกเข้ากับปัญหาหรือเรื่องที่กำลังเป็นที่สนใจของคนหมู่มาก จะเป็นการแสดงทักษะความสามารถในการนำความรู้ไปใช้ ซึ่งการ “นำไปใช้” (Apply) เป็นทักษะที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่ามีความสำคัญมากกว่าการแสดงความรู้โดยตรง ดังนั้นผู้แชร์จะมีโอกาสได้รับการยอมรับนับถือมากยิ่งขึ้น
    อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องระวังในการแชร์ความรู้เกี่ยวกับการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการแชร์ไปยังภายนอก จะต้องระวังเรื่องข้อมูลความลับของที่ทำงาน และไม่ควรที่จะสร้างภาพด้านลบให้กับที่ทำงานไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นจริงหรือไม่ เพราะอาจจะส่งผลในด้านลบต่อผู้แชร์มากกว่าด้วย

แชร์เพื่อนำเสนอรูปแบบการใช้ชีวิต (Lifestyle)
สำหรับผู้ที่มีเป้าหมายการแชร์เพื่อที่จะได้รู้จักกลุ่มที่มีความสนใจเดียวกัน หรือต้องการนำเสนอเพื่อให้ผู้รับเกิดความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะมีแนวทางที่สามารถนำเสนอได้ดังต่อไปนี้

  • รีวิว (Review) เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มผู้มีความสนใจด้านอาหารและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนผู้สนใจค่อนข้างมาก โดยการรีวิวนั้นเป็นการนำเสนอด้านต่างๆ ที่ผู้แชร์ประสบพบเจอมา หรือมีความประทับใจ ทั้งในด้านบวกและด้านลบ เพื่อช่วยในการตัดสินใจของผู้อื่น ทั้งนี้การรีวิวจะมีทั้งแบบข้อมูลทั่วไปและข้อมูลเชิงลึกผสมผสานกัน แต่การรีวิวที่มีข้อมูลเชิงลึกมักได้รับความสนใจและความเชื่อถือมากกว่า ตัวอย่างการรีวิวอื่นๆเพื่อสร้างความสนใจให้กับผู้รับเช่น รีวิวกิจกรรมโต้คลื่น, รีวิวบอร์ดเกม เป็นต้น
  • เปรียบเทียบ (Comparison) เป็นรูปแบบการนำเสนอข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับความสนใจนั้นๆ โดยจะมีลักษณะเพื่อเน้นเฉพาะรายละเอียดที่เป็นเงื่อนไขในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เช่น เปรียบเทียบรถเข็นเด็ก เปรียบเทียบหูฟัง เป็นต้น
    ความน่าสนใจในลักษณะการแชร์เกี่ยวกับการใช้ชีวิต มักจะอยู่ที่วิธีการถ่ายทอด เพื่อที่จะให้ผู้รับเห็นภาพหรือสามารถจินตนาการตัวเองในกิจกรรมหรือเหตุการณ์ที่กล่าวถึงได้ ซึ่งผู้ที่สามารถให้ข้อมูลได้ดีและแชร์ในเรื่องที่มีคนสนใจมากมักจะสามารถนำไปต่อยอดให้รูปแบบการใช้ชีวิตสอดคล้องกับงานได้ต่อไป

แชร์เพื่อการพัฒนาตนเอง (Self Improvement)
การแชร์โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การพัฒนาตนเองโดยส่วนมากจะทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากผู้แชร์มักจะขาดความมั่นใจในทักษะที่ต้องการพัฒนา ทำให้ไม่กล้าที่จะทำการแชร์ ดังนั้นสำหรับผู้ที่มีเป้าหมายด้านนี้ แนะนำให้เริ่มจากการแชร์ด้วยรูปแบบการเขียนบทความก่อน เพื่อเรียบเรียงความคิด ลำดับขั้นตอนการนำเสนอ โดยพยายามเน้นเนื้อหาที่กระชับและสามารถกลับไปตรวจสอบเนื้อหาให้มั่นใจได้ง่าย โดยกลุ่มรูปแบบการแชร์ที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มนี้เช่น

  • การเล่าซ้ำ (Retelling) เป็นการนำเรื่องเล่า บทความ วิดีโอ ที่มีเนื้อหาไม่ยาวมาก ที่ผู้แชร์ได้เลือกมาและทำการนำเสนอในรูปแบบของผู้แชร์เอง โดยการทำแบบนี้จะช่วยลดภาระในการสร้างเนื้อหา (Content) ให้กับผู้แชร์​ และเน้นให้ผู้แชร์ได้ฝึกทักษะการจับใจความ การนำเสนอ และการเขียนหรือพูด ซึ่งทักษะเหล่านี้สามารถต่อยอดไปใช้ในการแชร์ในรูปแบบอื่นๆได้ต่อไป
  • การสรุปหนังสือ (Book Summary) มีลักษณะคล้ายกับการเล่าซ้ำ แต่ความยาวของเนื้อหาต้นฉบับจะมากกว่า และต้องมีทักษะในการจับใจความที่เพิ่มขึ้น โดยผู้แชร์สามารถเลือกหนังสือได้ตามความสนใจ และทำการอ่าน จับใจความ เพื่อนำเสนอให้กับผู้อื่นในรูปแบบที่สั้นลงได้
  • การเขียนเรื่องสั้น (Short Literature) เป็นการนำเสนอสถานการณ์สมมุติหรือจินตนาการของผู้แชร์ โดยส่วนมากมักจะเน้นเนื้อหาสั้นๆที่เข้าถึงง่าย อ่านง่ายเพื่อให้ผู้แชร์ได้ฝึกทักษะในการเล่าเรื่อง (Story telling) การเรียบเรียงเนื้อหาที่คิดออกมาเป็นข้อความหรือคำพูด
    การแชร์เพื่อพัฒนาตนเอง ผู้แชร์มักจะมีความกังวลเรื่องคุณภาพงานที่แชร์ออกไป หรือกลัวในเสียงตอบรับต่างๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วผู้คนส่วนมากมักจะให้คำแนะนำ มากกว่าการดูหมิ่น และให้กำลังใจกับผู้ที่ต้องการพัฒนาตนเองมากกว่า

The scariest thing is in your imagination not your surrounding reality

ทั้งนี้ในการนำเสนอที่เป็นการใช้เนื้อหา (Content) ของผู้อื่นที่ได้ถูกนำมานำเสนอต่อ ผู้แชร์ควรคำนึงถึงการแจ้งให้ทราบถึงที่มาของเนื้อหาด้วย

บทส่งท้าย
ตัวอย่างการแชร์ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงแนวทางเล็กน้อยสำหรับผู้ที่อยากเริ่มทำการแชร์ความรู้เท่านั้น รูปแบบ เป้าหมายและวิธีการนำเสนอ ยังมีอีกมากมายตามแต่ความสนใจของผู้แชร์แต่ละคน ไม่ว่าเรื่องที่คุณแชร์จะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหน แต่เมื่อทุกคนร่วมกันสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันความรู้ ผลรวมของความรู้ที่ส่งต่อกันจะต้องสร้างสิ่งที่มีประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแน่นอน

There is no loser in sharing community, only the winner and the greater good for all

Related Content

  • ทั้งหมด
  • Blogs
  • Insights
  • News
    •   Back
    • Blockchain
    • Finance
    • Tech innovation
    •   Back
    • Leadership
    • PointX Products
    • Events
    • Others
    • Joint ventures
    • Partnership
    • Services & Products
    •   Back
    • Data Science
    • Careers
    • Lifestyle
    • Product
    • Strategy
    • Technology
    • User Experience

Your consent required

If you want to message us, please give your consent to SCB TechX to collect, use, and/or disclose your personal data.

| การเพิกถอนความยินยอม

หากคุณต้องการเพิกถอนการให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล กรุณาส่งคำร้องหาเรา

Vector

Message sent

We have receive your message and We will get back to you shortly.