ส่องสไตล์การทำงานสายเทคโนโลยีเพื่อพิชิตงานในฝันให้ได้อย่างใจหวัง

ไทย

blog technology working style 1

ช่วงไม่กี่ปีมานี้จะเห็นได้ชัดเจนว่าบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกต่างมีอัตราการเติบโตในหลาย ๆ ด้านแบบก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นผลประกอบการที่ได้จากผลิตภัณฑ์ หรือ การให้บริการ ผลตอบแทนให้แก่นักลงทุน และการขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ที่ส่งผลให้เกิดการจ้างงานหาคนที่มีความรู้ความสามารถในแวดวงเทคโนโลยีมาร่วมงาน หาคนที่เรียนจบมาตรงสาย จบมาไม่ตรงสาย ไปจนถึงการหาคนนอกวงการที่เป็นเลือดใหม่ มีความสด ความต่าง มาช่วยกันปลดล็อคและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน อย่างไรก็ดีนอกจากบริษัทจะสรรหาคนมาร่วมงานแล้ว คนรุ่นใหม่ไฟแรงที่กำลังมองหางาน หรือ อยากเปลี่ยนสายงาน ก็มองบริษัทเทคโนโลยีเป็นบริษัทแห่งอนาคตที่อยากส่งใบสมัครมาให้มากที่สุดเช่นกัน แต่หากเรามีข้อมูลประกอบการพิจารณาว่าบริษัทมีงานประเภทใดบ้าง ลักษณะงานแต่ละตำแหน่งต้องใช้ทักษะแบบไหน มีขั้นตอนการทำงานร่วมกันอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เรามองเห็นโอกาสในการก้าวเข้ามาทำงานในสายเทคโนโลยี รวมถึงช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีและง่ายขึ้นด้วยว่า งานไหน ทีมไหน ที่เหมาะกับเรา ซึ่งบทความนี้ขอเป็นส่วนหนึ่งในใบเบิกทางสู่อาชีพสายเทคโนโลยีในฝันให้ได้อย่างใจหวังและมีความสุขกับเส้นทางที่เลือก เพราะที่ SCB TechX เราเชื่อว่าเมื่อพนักงานมีความสุขกับงานที่ทำจะมีพลังสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า พร้อมส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า ได้อย่างแท้จริง

สไตล์การทำงาน
blog technology working style 2
ขั้นตอนการทำงานโดยสังเขป

SCB TechX ใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มาเป็นแก่นในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าและผู้ใช้งาน พร้อมกันนี้ยังได้นำแนวคิดแบบ Agile ที่เน้นการทำงานร่วมกันเป็นทีมมีการสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ มาใช้ให้เกิดความคล่องตัวเพื่อพร้อมรับมือกับทุกความเปลี่ยนแปลง โดยทีมงาน (Squad) ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายด้านมาช่วยกันพัฒนาและส่งมอบงานตามเป้าหมายที่วางไว้ ได้แก่ PO (Product Owner), UX (User Experience), BA (Business Analyst), PM (Project Manager), SA (System Analyst), SE (Software Engineer), QA (Quality Assurance) ฯลฯ ซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ แอปพลิเคชัน ตามความต้องการของลูกค้านั้นจะมีการออกแบบการพัฒนาเป็นรอบ ๆ (Sprint) แต่ละ Sprint จะมีการตั้งเป้าหมายการทำงาน การพัฒนา การทดสอบระบบต่างๆในระยะเวลาสั้น ๆ ตามที่กำหนด ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ โดยงานที่ได้แต่ละ Sprint จะถูกนำไปโชว์ให้เจ้าของผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ แอปพลิเคชัน ลองใช้งานดูด้วย (Demo) ว่าถูกต้องตรงตามความต้องการของธุรกิจหรือไม่ หากต้องการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ก็สามารถดำเนินการพัฒนาได้อย่างรวดเร็วใน Sprint ถัดไป

ขั้นตอนระดมสมองค้นหาไอเดียสร้างสรรค์ (Ideate)
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ แอปพลิเคชัน ไม่ได้มีเพียงทีมงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการเขียนโปรแกรม (Coding) อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังอาศัยทีมงานที่เก่งด้านการบริหารจัดการ ความคิดสร้างสรรค์ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ฯลฯ เพื่อให้งานสำเร็จตามเงื่อนไขเวลาและธุรกิจด้วย โดยในขั้นตอนแรกของการทำงานจะเริ่มจากการรับฟังความต้องการของลูกค้าและนำมาคิดค้นหาหาไอเดียตอบโจทย์ทางธุรกิจ (Ideate) ทีมที่ทำงานใกล้ชิดกับลูกค้าจะมี PO (Product Owner) และ BA (Business Analyst) ซึ่งบางครั้งจะมี UX (User Experience) และ PM (Project Manager) เข้ารับฟังความต้องการจากลูกค้าร่วมกัน ว่าลูกค้าอยากให้ช่วยทำอะไร แก้ปัญหาตรงไหน ต้องการเทคโนโลยีมาช่วยเติมเต็มอย่างไร โดยในช่วง Sprint แรกๆจะเป็นการนำความต้องการของลูกค้าหรือ UR (User Requirement) มาศึกษา ทำความเข้าใจวิเคราะห์ขอบเขตความเป็นไปได้ โดย PO จะสรุปความต้องการของลูกค้าออกมาเป็น Draft Requirement เพื่อประชุมกับทีมงานและประเมินขนาดของงานคร่าวๆ ก่อนส่งให้ UX ออกแบบขั้นตอนการใช้งาน (User Journey) โดยเริ่มจากการวางภาพเบื้องต้นว่าผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ แอปพลิเคชันที่ลูกค้าต้องการนั้นมีฟังก์ชันหลักเป็นอะไร เมื่อทำรายการแล้วผลลัพธ์จะเกิดกรณีไหนได้บ้าง แล้วต้องมีปุ่มให้ไปต่ออย่างไร เมื่อรายละเอียดชัดขึ้นจะค่อย ๆ ขึ้นโครงภาพหน้าจอใช้งาน (Wireframe) ขึ้นมาก่อน เพื่อนำไปเช็คว่าตรงตามความต้องการของลูกค้าหรือไม่ จากนั้น PO จะนำ Wireframe ของ UX ที่ผ่านความเห็นของลูกค้ามาลงรายละเอียด เพิ่มเติมข้อมูลของแต่ละฟังก์ชันในเชิงเทคนิค จนออกมาเป็น User Story เช่นการโอนเงินต้องมีการตรวจจำนวนหลักของบัญชีธนาคารปลายทางเป็นต้น ส่วน PM เมื่อได้ Final Requirement มา จะคุยกับทีมเพื่อยืนยันขนาดของงาน แล้วมากำหนดระยะเวลาที่สามารถส่งมอบชิ้นงานนนั้นๆได้ตามจำนวนคน (Man-Day) ที่มี เพื่อให้ความต้องการของลูกค้าสำเร็จอย่างมีคุณค่าตามระยะเวลาที่กำหนด

blog technology working style 3
ทีมงาน Agile ของ Dbank

ขั้นตอนการออกแบบ Service Design
เมื่อทุกฝ่ายได้นำเสนอไอเดียมาประมาณหนึ่งแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนที่เรียกว่าการออกแบบซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ Service Design และ Application Design สำหรับขั้นตอนแรก Service Design นั้นจะเริ่มจาก PM จัด Grooming meeting ให้ PO กับ BA (Business Analyst) หรือนักวิเคราะห์ธุรกิจ เพื่อให้ BA เข้าใจความต้องการของลูกค้าก่อนจะนำ User Story ของ PO มาลงรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น หากลูกค้ามีระบบเดิมที่ใช้งานอยู่ เราควรแก้ไขฟังก์ชันงานส่วนไหนที่จะไม่ไปกระทบกับงานเดิมของลูกค้า หรือ ดูว่าระบบต่างๆต้องใช้ข้อมูล (Data) อะไร แล้วข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งไปที่ไหนอย่างไร (Data Flow) นอกจากนี้ในบางครั้งหากมีข้อมูลไม่เพียงพอทาง PO และ BA ต้องมีการขอเข้าเก็บรายละเอียดความต้องการจากลูกค้าเพิ่มเติมอีกด้วย พอมีรายละเอียดงานที่ชัดขึ้น ทาง UX จะออกแบบหน้าจอเสมือนจริง โดยมี UX Writer และ Key Visual Designer มาช่วย ตกแต่งหน้าจอ ใส่สีสัน ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างประสบการณ์ใช้งานที่ดีให้แก่ลูกค้าและผู้ใช้งาน โดยในบางครั้งอาจมีการทดลองให้ลูกค้า หรือ กลุ่มตัวอย่างลองใช้งานเพื่อนำผลตอบรับ หรือ ข้อคิดเห็นมาปรับปรุงแก้ไข และ เมื่อออกแบบ Service Design เรียบร้อยแล้วทาง PO จะมาตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ ใน User Story อีกครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าการทำงานดังกล่าวนั้นตอบโจทย์ และ ตรงตามความต้องการทางธุรกิจของลูกค้า ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการขั้นตอนถัดไป

blog technology working style 4
ทีมผู้บริหาร ทีมPO และ BA

ขั้นตอนการออกแบบ Application Design

ขั้นตอนนี้เป็นการลงรายละเอียดของงานเชิงระบบ และ เชิงเทคนิคที่จะใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ แอปพลิเคชัน เพื่อให้ความต้องการของลูกค้าบรรลุผล และส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ใช้งาน โดยเริ่มจาก PO และ BA จัด Grooming meeting แชร์ข้อมูลให้ SA (System Analyst) นักวิเคราะห์โครงสร้างระบบ เพื่อให้ทราบความต้องการของลูกค้าตาม User Story เมื่อทีม SA วิเคราะห์ระบบแล้วจะให้คำปรึกษาเพิ่มเติมแก่ BA พร้อมสนับสนุนข้อมูลในเชิงธุรกิจต่าง ๆ ที่ SA วิเคราะห์มาเพื่อให้ระบบมีความสมบูรณ์ที่สุด รวมไปถึงช่วยดูวิธีเชื่อมโยงข้อมูล การเชื่อมต่อระหว่างระบบ ผลกระทบที่มีต่อระบบอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว รวมถึงช่วยหาวิธีลดเวลาในการส่งต่อข้อมูลระหว่างระบบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังช่วยพิจารณาด้วยว่าควรใช้เทคโนโลยีอะไรบ้างตั้งแต่ต้นจนถึงผู้ใช้งานทำรายการสำเร็จ (Technology Stack) ซึ่งในการออกแบบความต้องการเชิงระบบของ SA จะมีทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางคอยให้การสนับสนุน ประกอบไปด้วย 5 ทีมสำคัญดังนี้

blog technology working style 5
ทีม R&D and Innovation

ทีมที่ 1 จะเป็นทีมออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมหรือโครงสร้าง (Architecture and Integration)
ซึ่งประกอบไปด้วยทีมที่ดูว่าการนำระบบหลาย ๆ อันมาเชื่อมต่อกันตามที่ทีมที่เกี่ยวข้องวางโครงสร้างระบบไว้นั้น ในระดับภาพใหญ่มีประเด็นอะไรไหม SolAr (Solution Architect) และทีมที่ดูว่ามีอะไรกระทบต่อความคล่องตัวของระบบเดิมที่ดำเนินอยู่หรือเปล่า EA (Enterprise Architect) หากมีก็จะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาสนับสนุน

ทีมที่ 2 ดูแลเรื่องมาตรฐานของเทคโนโลยี ความปลอดภัยของระบบ (Enablement)
ประกอบไปด้วยทีมที่คอยช่วยดูแลด้าน Technology Stack ในภาพรวม (Dev Advocacy) ทีมที่คอยให้คำปรึกษา จัดหา Technology Stack ใหม่ ๆ มาให้กับทีมพัฒนา (R&D and Innovation) ทีมทดสอบระบบให้มีความถูกต้องสมบูรณ์ (Technical Test) ทีมที่คอยดูแลเลือกซื้อเทคโนโลยีต่าง ๆ มาให้ทีม SE ใช้งาน (Tooling) ทีมที่คอยดูแลด้านความปลอดภัยของระบบข้อมูล (Security)

ทีมที่ 3 ดูแลเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของระบบ ที่ใช้ในการเก็บข้อมูลและประมวลผล (Platforms)
ประกอบไปด้วยทีมที่คอยดูแลการขึ้นระบบ (Dev Ops) ทีมที่สนับสนุนด้านข้อมูลให้นักบริหารจัดการข้อมูลไปวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงธุรกิจ (Database Team) และ ทีมที่ออกแบบ Hardware เพื่อให้รองรับการทำงานของระบบ รวมถึงการเชื่อมต่อระบบให้มีประสิทธิภาพ (Infrastructure Team)

ทีมที่ 4 ดูแลความเสถียรของ Applications และ Platforms ดูแล Traffic Flow (Site Reliability)

ทีมที่ 5 ดูแลแก้ปัญหาทางเทคนิค ให้แก่ผู้ใช้งาน (Technical Support)

ขั้นตอนการพัฒนาโปรแกรม (Develop)

เมื่อการออกแบบเสร็จสิ้น จะมีการส่งต่อ User Story ไปยังทีมพัฒนาระบบ SE (Software Engineer) โดยจะมีการแบ่งทีมพัฒนาออกเป็น 2 ส่วน คือ ทีมที่พัฒนาในส่วนของหน้าบ้าน (Front End) และหลังบ้าน (Back End) เมื่อพัฒนาเสร็จแล้ว จึงมีการนำโปรแกรมที่เขียนมาเชื่อมต่อกัน (Integrate) เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ แอปพลิเคชัน ที่ลูกค้าต้องการให้ออกมาเสร็จสมบูรณ์ โดยทุก ๆ Sprint ทีม SE จะมีการสร้างผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ แอปพลิเคชัน ที่ใช้งานได้ในระดับหนึ่ง และ ผ่านการทดสอบเบื้องต้นแล้ว (Workable Product) มานำเสนอให้ PO เพื่อตรวจสอบว่าถูกต้องตามความต้องการทางธุรกิจหรือไม่ หากมีประเด็นที่ต้องปรับแก้ จะได้พัฒนาให้ตรงตามความต้องการทางธุรกิจได้ใน Sprint ถัดไป

blog technology working style 6
ทีม SE และทีมอื่นๆ

ขั้นตอนการทดสอบระบบและโปรแกรม (Test)

ขณะที่ทางทีม SE เริ่มเขียนโปรแกรมอยู่นั้น ทีมทดสอบระบบและโปรแกรม QA (Quality Assurance) ก็เริ่มคิดและลงมือเขียนกรณีต่าง ๆที่ใช้ในการทดสอบระบบทั้งหมด (Test Cases) เช่นกัน โดยจะทำการคิดและเขียนกรณีต่าง ๆ อิงจากความต้องการของลูกค้าและครอบคลุมทุกความเป็นไปได้ที่ผู้ใช้งานจริงมีโอกาสจะเลือกใช้ ทั้งกรณีที่ผู้ใช้งานทำตามขั้นตอนถูกต้องจนสำเร็จ และกรณีที่ไม่ได้ทำตามขั้นตอน เพื่อเช็คการแสดงผลของระบบและหน้าจอ ทั้งนี้เพื่อลดความผิดพลาดของระบบตามหลักการทำงานแบบ Agile ดังนั้นเมื่อทีม SE เขียนโปรแกรมเสร็จทุก ๆ 2 อาทิตย์ (Sprint) ทาง QA ที่เตรียมกรณีต่าง ๆ ไว้แล้วจะทำการทดสอบระบบและโปรแกรมหาจุดบกพร่องของระบบ (Bug) ต่อทันที ด้วยวิธีใช้คนทดสอบบ้าง (Manual Testing) เขียนโปรแกรมขึ้นมาเพื่อทดสอบโดยอัตโนมัติบ้าง (Automate Testing) อย่างไรก็ดีระบบหรือขั้นตอนการทำงานบางอย่างยังคงไม่สามารถทำให้เสร็จได้ภายในแต่ละ Sprint ดังนั้นการทดสอบระบบที่เหลือทั้งหมดจะถูกนำมาทดสอบในช่วงท้ายก่อนการลงระบบและเปิดให้ใช้งานจริง (Deploy) ซึ่งการทดสอบระบบช่วงนี้จะประกอบไปด้วย การทดสอบการเชื่อมต่อกับบริการอื่น ๆ System Integration Test (SIT) และ การวัดผลตอบรับจากผู้ใช้งาน User Acceptance Test (UAT) เพื่อมุ่งหวังให้ได้ ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ แอปพลิเคชัน ทีมีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและผู้ใช้งานจริงมากที่สุด

blog technology working style 7
ทีม QA

ขั้นตอนการเปิดให้ใช้งาน (Deploy)

เมื่อการทดสอบต่าง ๆ ผ่านเรียบร้อยแล้ว จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการนำผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ แอปพลิเคชัน เปิดให้ใช้งานจริง (Deploy) โดยส่วนใหญ่จะเลือกเวลาลงระบบจริงในช่วงที่มีผู้ใช้บริการจำนวนไม่มาก เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้จะมีทีม Digital Care และ ทีม Change เป็นผู้ดูแลด้านการสื่อสารให้แก่ลูกค้า และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ตั้งแต่ประกาศแจ้งปิดระบบเพื่อให้ผู้ใช้บริการหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมในช่วงเวลาที่ลงระบบ การจัดทำคู่มือการใช้งาน และการฝึกอบรมให้แก่ผู้ใช้งานทั้งในและนอกบริษัท นอกจากนี้ในกรณีที่มีปัญหาการใช้งานระบบต่างๆทีมดังกล่าวก็จะเป็นผู้ให้คำแนะนำและดูแลในเบื้องต้น หากมีปัญหาในเชิงลึกจะมีทีม Technical Support คอยให้บริการอยู่ด้านหลังเสมอ เพื่อให้ลูกค้าและผู้ใช้งานมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ แอปพลิเคชัน ที่อยู่ภายใต้การดูแลของทีม SCB TechX จะได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของลูกค้าราบรื่น และเป็นไปตามที่ลูกค้ามุ่งหวังตั้งแต่ต้นจนถึงบริการหลังการใช้งานอย่างมืออาชีพ

blog technology working style 8
ทีม Digital Care และ Change

ทีมสำคัญอื่นๆ ของบริษัท

นอกจากทีมงานที่ดูแลด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ แอปพลิเคชัน โดยตรงแล้ว ภายในบริษัทยังมีหน่วยงานอื่นที่มีความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนบริษัทให้ไปถึงเป้าหมายร่วมกันไม่ว่าจะเป็นทีม Product Strategy, New Business Development, Marketing, Point X, Financial & Accounting, Financial Planning & Budget, Data Analytics, Legal & Compliance, Resource Management, Governance Service & Operation Control, PMO & Operations, Human Resource และ ทีมอื่น ๆเพื่อรองรับการขยายตัวของบริษัทในอนาคต

blog technology working style 9
ผู้แทนทีม HR, Marketing, Digital Care, Governance และ PM

SCB TechX มุ่งมั่นที่จะเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่และดีที่สุดในอาเซียน แม้ว่าบริษัทจะก่อตั้งไม่นาน แต่ความจริงทีมงาน SCB TechX อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหลายแพลตฟอร์มทั้งด้าน Banking และ Non-Banking เช่น แอปพลิเคชันที่ให้บริการทางการเงินอย่าง SCB EASY บริการแจ้งเตือนยอดเงินเข้าออกบัญชีอัตโนมัติผ่านทาง LINE SCB Connect บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ แม่มณี หรือแม้แต่ แอปพลิเคชัน Robinhood ของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด และอีกมากมายที่กำลังต่อคิวรอเปิดตัวมาให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายพร้อมเพลิดเพลินไปกับสิทธิพิเศษต่าง ๆ ซึ่งการมีแผนเติบโตระยะยาวอย่างไร้ขีดจำกัดนี้ ทำให้บริษัทมีความต้องการสรรหาเพื่อนร่วมทีมเพื่อเติบโตไปด้วยกันอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อน ๆ ที่วางแผนเติบโตในสายงานนี้อย่ารอช้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชาว SCB TechX กันเลย


Related Content

  • ทั้งหมด
  • Blogs
  • Insights
  • News
    •   Back
    • Careers
    • Data Science
    • Lifestyle
    • Product
    • Strategy
    • Technology
    • User Experience
    • xPlatform
    • DevOps
    •   Back
    • PointX Products
    • Events
    • Others
    • Leadership
    • Partnership
    • Services & Products
    • Joint ventures
    •   Back
    • Blockchain
    • Finance
    • Tech innovation

Your consent required

If you want to message us, please give your consent to SCB TechX to collect, use, and/or disclose your personal data.

| การเพิกถอนความยินยอม

หากคุณต้องการเพิกถอนการให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล กรุณาส่งคำร้องหาเรา

Vector

Message sent

We have receive your message and We will get back to you shortly.