เปิดปีใหม่มานี้คอลัมน์บทสัมภาษณ์ Job Skills โชคดีที่สุดที่ได้มีโอกาสนั่งพูดคุยกับพี่ตุ้ย คนดังแห่งวงการ Architecture & Integrations ผู้เป็นตัวตึงสายเทค ชนิดที่เรียกได้ว่าพอ Requirements ทาง Business เข้ามาปุ๊บจะมองเห็นปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ทันที แล้วหาวิธีป้องกันแก้ไขให้แบบแวบเดียวทะลุถึงทางออกเลย ว้าวววว 🙂 ใครที่สนใจหรือกำลังศึกษางานสายนี้อยู่คุณคือผู้โชคดีจริงๆเพราะพี่ตุ้ยช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานด้านนี้อย่างละเอียดมากแบบมากๆ และตรงประเด็น รับรองว่าอ่านจบแล้วไม่ต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมจากที่ไหน เอาเวลาไปอัพเดต CV แล้วสมัครมาทำงานกับทีมนี้เลยดีกว่า น่ารักและใจดีกันทุกคนค่ะ 🙂
ช่วยแนะนำตัวเองให้นิดนะคะ และ อะไรทำให้ชอบงานด้าน Architecture & Integrations คะ?
ชื่อตุ้ยครับ ตำแหน่งงาน Director ดูแลด้าน Architecture ของ SCB TechX
พี่เริ่มต้นทำงานด้วยการเป็นโปรแกรมเมอร์พาร์ทไทม์ให้กับมหาวิทยาลัย พอเรียนจบก็ทำงานที่ธนาคารแห่งหนึ่งในตำแหน่ง Computer Operator น้องๆสมัยนี้คงนึกไม่ออกว่า ตำแหน่งนี้คืออะไร ถ้าพูดง่ายๆก็คือคนที่คอยทำหน้าที่ execute batch job และดูแลเรื่องการ backup ข้อมูล สมัยนั้นเราจะเก็บข้อมูลในเทป และ operator ก็มีหน้าที่คอยโหลดข้อมูลหรือสำรองข้อมูลจากเทป แต่ทำไปสักพักรู้สึกว่างานที่ทำไม่มีความท้าทาย เลยมองหางานใหม่อยากกลับไปทำ โปรแกรมเมอร์ จึงไปทำงานกับบริษัทซอฟท์แวร์ที่หนึ่ง ต้องบอกว่าสมัยก่อนยังไม่มีคำนิยามของ Agile หรือคำว่า Full Stack Developer แต่เนื่องจากพี่เริ่มทำงานจากบริษัทที่เล็ก คนที่เป็นโปรแกรมเมอร์ก็จะทำงานทุกอย่าง ตั้งแต่คุย Requirement, Design, Development, Deployment แล้วก็ดูแล Production ครับเราเลยได้ ทักษะการทำงานที่หลากหลายติดตัวมา
จากนั้นก็ได้มีโอกาสไปทำงาน บริษัทซอฟแวร์ที่ทำระบบ Core Banking ให้กับธนาคารเป็นธุรกิจหลัก ชื่อ FIS Global โดยดูแลส่วนที่เกี่ยวกับ Solution ด้าน Channel และ Integration ทำอยู่ 13 ปี ก็รู้สึกอยากลองไปทำงานธนาคารดู เลยเดินเข้ามาสู่เส้นทางการเป็น Architect ของธนาคารทหารไทยในตำแหน่ง Enterprise Architect และก็ย้ายมาเป็น Enterprise Architect ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่นี่ได้รับมอบหมายหน้าที่มากขึ้นให้ดูแล Enterprise API ของธนาคารควบการดูแลแผนก Enterprise Architecture ทั้งหมด พอทาง SCB มีการประกาศแยกมาเป็น SCB TechX ก็เลยได้มีโอกาสตามทางพี่แว่น CEO มาอยู่ SCB TechX ครับ
ถ้าถามว่าอะไรเป็นส่วนที่ทำให้ชอบงานด้าน Architecture น่าจะเป็นเรื่องนิสัยส่วนตัวเป็นคนย้ำคิดย้ำทำ เวลามีปัญหาอะไรเราจะหมกมุ่นอยู่กับมันแล้วพยายามหา Solution ที่จะแก้ปัญหานั้นให้ได้ ประกอบกับประสบการณ์ทำงานของเราเป็น Programmer สาย Integration ที่แก้ปัญหาด้านนี้เยอะ ทำให้การขยับจากโปรแกรมเมอร์มาทำงาน Architect ไม่ได้มีรอยต่ออะไร ไม่ได้ขาดทักษะด้านใด โดยธรรมชาติของงาน Architecture ส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานด้านการออกแบบ ที่ประกอบไปด้วยหลายส่วน เช่น Business Process, Application Design, Database Design แล้วก็ Infrastructure Design แต่พอเราเอาการออกแบบแต่ละส่วนมารวมกัน เราก็จะเรียกว่าเป็น Solution Design หรือ Solution Architecture ซึ่งเป็น Highlight ของงานออกแบบ เพราะเป็นการรวมเอาทักษะ IT ทุกอย่างมาใช้เพื่อแก้ปัญหาเชิงธุรกิจ ปกติแล้ว เราจะหา Solution ใดๆ ก็เพราะว่าเรามีปัญหาที่เราอยากแก้ไข ดังนั้นคนเป็น Architect ก็ต้องมีทักษะที่ค่อนข้างรอบตัว ทั้งเรื่องความสามารถในการสื่อสาร การมี Critical Thinking สามารถเข้าใจ Requirement แล้วถอดปัญหาออกมาก่อน จากนั้นก็หาวิธีแก้ปัญหานั้นให้ได้
งาน Architecture & Integrations ที่ SCB TechX มีทำหน้าที่อะไรบ้าง? ต้องทำงานใกล้ชิดกับทีมใด? และอยู่ในขั้นตอนไหนของการทำงานในแต่ละ Project คะ?
SCB TechX เป็นบริษัทซอฟแวร์ ที่มีธุรกิจอยู่หลายส่วน หลักๆเป็นธุรกิจที่เป็น System Integrator และ สร้าง ซอฟแวร์ ของเราเองเพื่อนำออกสู่ตลาดด้วย ดังนั้น Role ของ Architect และ Integrations จะมีหน้าที่ที่ต้องทำงานร่วมกับโปรเจคทีมต่างๆเพื่อออกแบบ Solution และในขณะเดียวกันก็ต้องกำกับให้ภาพรวมของการสร้าง ซอฟแวร์ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัทด้วย
จริงๆแล้ว Architecture มี Area ที่แยกย่อยได้เยอะ เวลาค้นหางานเราอาจจะพบกับตำแหน่ง Cloud Architect, Application Architect, Data Architect, AI Architect, Business Architect, System Architect, Network Architect ฯลฯ ซึ่ง Architect สำหรับ SCB TechX เราดูทั้งหมดนี้ Solution Architect มีหน้าที่รับผิดชอบในการออกแบบ Solution แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการที่จะได้มาซึ่ง Solution นึง Architect เป็นคนออกแบบคนเดียว เพราะการออกแบบ Solution End-to-End มีรายละเอียดที่ต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านไม่ว่าจะเป็น Business Analyst, Project Manager, System Analyst, Product Owner, Quality Assurance, Developer, Devops, Infra และ Security โดย Architect เองจะแฝงอยู่ในทุกขั้นตอนของแต่ละโปรเจค
ในช่วงแรกตั้งแต่การทำ Project Biding ทีม Architect มีหน้าที่สนับสนุนทีม Business Engagement (Sales) ที่จะเข้าไปเป็นที่ปรึกษาทางด้านเทคนิค นำเสนอ Solution ให้กับลูกค้า พอเข้าช่วง Implementation Phase ทาง Architect ต้องทำงานร่วมกับทาง Business Analyst, Product Owner, System Analyst และ Dev ในการดูและเปลี่ยน Requirement ให้ออกมาเป็น Architecture Design ส่วนนี้จะเป็นงานที่เยอะที่สุดของ Architect เพราะ Architect ที่เก่งจะต้องพยายามมองให้ออกว่าจาก Requirement ที่ได้มามีปัญหาอะไรที่ต้องแก้ไขบ้าง (Problem Statement) จากนั้นก็นำเสนอ Solution แก้ปัญหาแต่ละส่วน ซึ่งกระบวนการนี้มีจุดให้ต้องตัดสินใจตลอดเวลา หรือ บางครั้งอาจต้องนำเสนอตัวเลือกในการตัดสินใจให้แก่คณะกรรมการ หรือผู้บริหารระดับสูงทำการตัดสินใจ ซึงในขั้นตอนนี้ Architect ก็ต้องทำการสื่อสารเพื่อให้ผู้ตัดสินใจทราบถึงผลกระทบในการตัดสินใจในแต่ละตัวเลือก พอหลัง Implementation Phase ทาง Architect มีงานที่ต้องทำสองอย่างคือ ประเมินหรือฟัง Feedback จากผู้เกี่ยวข้องว่า Solution ที่ออกแบบไปทำงานได้ดีตามที่ตั้งใจไว้ไหม หรือมีอะไรที่ผิดคาด ทำให้ Solution ไม่เวิร์ค ซึ่งเราก็ต้องเก็บมาปรับปรุง ถ้า Solution บางอย่างดูแล้วดี แล้วเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาคล้ายๆกันได้ในอนาคต เราก็จะสร้างสิ่งที่เรียกว่า Reference Architecture หรือคนส่วนใหญ่บางทีก็เรียกว่า Pattern เอาไว้เป็นแนวทางสำหรับการออกแบบ Architecture ในอนาคต
งานสายนี้ต้องการคนที่เก่ง Hard Skills และ Soft Skills ในด้านใดบ้างคะ?
Hard skills อันนี้ตอบยาก เพราะพี่เคยทำงานกับคนที่เป็น Architect ที่ดี ที่มีจุดแข็งด้าน Hard Skills ที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น มีบางคนมาจากสาย Project Management ก็มาเป็น Architect ที่เก่งได้ หรือบางคนเป็นสาย Dev จ๋าๆ สุดท้ายก็กลายเป็น Architect ที่เก่ง เพราะการออกแบบ Solution ใดๆใช้ทักษะหลายส่วนมากเพื่อคิดวิธีแก้ปัญหาให้ออกมาในรูป Solution Architecture เพราะฉะนั้น Architect ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่เก่งไปซะทุกเรื่อง แต่ต้องเป็นคนที่รู้จักจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเองแล้วทำงานร่วมกับคนอื่นเป็น เช่น การออกแบบ Solution อาจจะต้องมีการออกแบบ Network อย่างพี่ก็ไม่ได้เก่งด้าน Network แต่เราเข้าใจว่าปัญหาคืออะไร เรารู้ว่าเรามีทีม Network ที่เก่งกว่าเราที่สามารถให้คำแนะนำเราได้ ในตรงนี้เราก็ประสานงานกับเค้าแล้วก็ทำงานให้ออกมาได้
ในส่วน ของ Soft Skills นั้นคิดว่า ไม่ต่างจาก Soft Skills ที่ทำให้เราเป็น PM, SA ที่เก่ง คิดว่า มันอยู่บนหลักการเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ทักษะการสื่อสาร การทำงานร่วมกับคนอื่น การมีระเบียบวินัย บริหารจัดการเวลาของตนเองได้ดี การอ่อนน้อมถ่อมตน ทักษะในการฟังและเข้าใจผู้อื่นครับ
ในมุมมองพี่คิดว่าสายอาชีพ Architecture & Integrations อีก 5–10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไรคะ?
พี่มองว่างาน Architect ยังจำเป็นในการออกแบบระบบขนาดใหญ่ อย่างเวลาพี่ไปแนะแนวอาชีพให้น้องๆในมหาวิทยาลัยพี่ก็จะพยายามยกตัวอย่างว่า ถ้าเราสร้างกระท่อมมาหลังนึง เราคงไม่ต้องการสถาปนิกมาช่วยออกแบบกระท่อม แต่ถ้าเราสร้างสวนสนุกขนาดใหญ่ สร้างสนามบินนานาชาติ เราต้องการสถาปนิกมาช่วยออกแบบแน่ๆ เช่นกัน งาน IT Architect จะยังมีความต้องการในตลาดต่อไป แต่งาน Architect ก็จะเป็น Architect ที่ออกแบบ Platform ขนาดใหญ่ เพราะอย่างที่ทราบกัน อย่างเร็วๆนี้ที่เราเห็นว่ามี ChatGPT เป็น AI ที่ฉลาดมากที่จะเข้ามาทำงานแทนที่คนได้ในหลายๆอาชีพ ซึ่งแนวโน้ม AI จะเก่งในระดับที่สร้างระบบเล็กๆ ได้เช่นถ้าอยากได้ Webboard อันนึง คงไม่จำเป็นต้องใช้ Architect มาออกแบบแล้ว แต่ถ้าเราอยากสร้าง ธนาคาร Digital ขึ้นมาใหม่ AI คงสามารถช่วยเราสร้าง Component ส่วนเล็กๆได้แต่ที่เหลือ ก็ต้องมีคนที่มองภาพรวม แล้วประกอบของเหล่านี้ขึ้นมาเป็น Solution ได้ ซึ่ง Architect เป็นคนทำหน้าที่ตรงนี้ได้ครับ
สไตล์การบริการจัดการงาน และบริหารทีมของพี่เป็นอย่างไรคะ?
พี่อาจจะเป็นคนที่ไม่ได้มีวิธีพูด หรือจิตวิทยาที่ดีนัก เวลาทีมงานมีจุดบกพร่อง ส่วนใหญ่เราจะบอกเค้าตรงๆเลย เช่นในการนำเสนองานกับ CEO บางทีทีมงานอาจจะประหม่าหรือไม่ได้เตรียมตัวมาดีพอ ทำให้การนำเสนองานไม่ดี ตรงนี้เราก็จะแก้ปัญหาหน้างานโดยประคองน้องไปก่อน ให้การนำเสนองานผ่านไปได้ แต่หลังจากนั้นเราก็จะบอกน้องว่าให้ลองไปดูวีดีโอที่ตัวเองนำเสนอว่าดูแล้วมีข้อที่ต้องปรับปรุงอะไรบ้าง เป็นต้นครับ
งาน Architect จริงๆ เป็นเหมือนงานที่ปรึกษาประเภทหนึ่ง ในฐานะหัวหน้าทีมพี่จะให้ความสำคัญกับเรื่องวินัยมาก เคยอ่านหนังสือเล่มนึงเค้าเขียนว่า คุณไม่สามารถแสร้งทำตัวเป็นโปรแกรมเมอร์ได้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่คุณเริ่มเขียนโค้ด คนก็จะรู้ว่าคุณไม่ใช่โปรแกรมเมอร์ แต่คุณสามารถแสร้งเป็น Architect ได้เพราะคุณอาจจะวาดรูปอะไรที่ค่อนข้าง Abstract แล้วพูดจาไม่รู้เรื่องคนก็คิดว่าคุณเป็น Architect แล้ว ดังนั้นพี่จะพยายามบอกทีมงานว่า วินัยสำคัญ การให้คำสัญญา การจัดการบริหารตารางงานของตัวเอง สำคัญมากเพราะสุดท้ายแล้วคนที่อยู่ในงาน Architect ได้นานหรือคนที่ประสบความสำเร็จในสายงาน Architect ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนที่ได้รับ Respect จากคนอื่น จาก stakeholders ต่างๆ เป็นต้นครับ
สุดท้ายนี้อยากให้ช่วยแชร์ว่ามีเทคนิคเพิ่มความรู้ อัพเดตความเก่ง พัฒนาด้านเทคโนโลยีต่างๆอย่างไรคะ?
การอัพเดทเรื่องความรู้ จริงๆพี่ไม่มีทางลัดอะไรพี่ยังคงแนะนำให้อาศัยความขยันหาความรู้ ขยันอ่านครับ และอยากให้มี skill การเอ๊ะๆ หรือการทำให้ความรู้ที่เรามีนั้นกลายเป็นความรู้เชิงลึกตกผลึกจนสามารถพลิกแพลงนำไปประยุกต์ใช้ได้ นำไปใช้เป็นตัว Connect the Dot บางคนขยันมาก สอบ Certificate เป็น 10 ใบ แต่พอทำงานจริงไม่สามารถประยุกต์เอาความรู้เหล่านั้นมาแก้ปัญหาได้เพราะฉะนั้นบางทีเราต้องลองฝึกใช้ความคิดแล้ว Challenge ความคิดนั้นกับตัวเอง กับ คนอื่นดู บางทีเราอาจจะเก่งขึ้นโดยที่เราไม่ได้อัพเดทความรู้อะไร อยู่ดีๆเราก็รู้สึกเอ๊ะ ที่อยู่ดีๆข้อมูลที่มีอยู่ในหัวมันเชื่อมโยงกันเองซะงั้น 5555 หวังว่าบทสัมภาษณ์พี่วันนี้จะมีประโบชน์แก่น้องๆบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ ขอให้น้องๆลองค่อยๆเก็บข้อมูลว่าเราชอบทำงานด้านไหนแล้ววันนึงเราอาจได้มีโอกาสร่วมงานกันครับ ขอบคุณมากครับ