รู้ความต่าง Cloud Storage vs. Traditional Storage vs. Software- Defined Storage 

cloud-storage-vs-traditional-and-software-defined-storage 1

ข้อมูล (Data) ได้กลายเป็นสินทรัพย์สำคัญขององค์กรในปัจจุบัน ธุรกิจต่างต้องการโซลูชันในการจัดการและจัดเก็บข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ การเลือกระบบจัดเก็บข้อมูลที่เหมาะสมจึงเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ ซึ่งปัจจุบันมีระบบจัดเก็บข้อมูลหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้ โดยที่พบเห็นและนิยมใช้มากที่สุดคือ Cloud Storage, Traditional Storage และ Software-Defined Storage และแน่นอนว่า Storage แต่ละประเภทมีจุดเด่นที่ตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรที่แตกต่างกัน

 

บทความนี้จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับ การจัดเก็บข้อมูล (Data Storage) ทั้ง 3 รูปแบบว่า มีหลักการทำงานอย่างไร มีประโยชน์ในด้านใด แล้วองค์กรควรเลือกใช้ระบบจัดเก็บข้อมูลแบบไหนให้เหมาะสมที่สุด

ทำความรู้จัก Cloud Storage

Cloud Storage คือ พื้นที่จัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ที่ให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงและจัดการข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนในอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลอย่างเซิร์ฟเวอร์กายภาพ (Physical Server) ในปัจจุบันมีผู้ให้บริการ Cloud Storage ที่หลากหลาย หรือองค์กรสามารถพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์เองได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่าน โมเดลการทำงานแบบ DevSecOps ประกอบกับการประยุกต์ใช้ DevOps Tools ต่างๆ ในการจัดการความปลอดภัยและเสริมประสิทธิภาพการทำงาน 

 

โดยหลักการทำงานพื้นฐานของ Cloud Storage คือ เมื่อผู้ใช้งานอัปโหลดไฟล์หรือข้อมูลไปยัง Cloud Storage ข้อมูลจะถูกส่งผ่านอินเทอร์เน็ตไปยังเซิร์ฟเวอร์ (Server) ของผู้ให้บริการ  และจัดเก็บไว้ในศูนย์ข้อมูล (Data Center) ซึ่งมีการรักษาความปลอดภัยในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งยังมีระบบสำรองข้อมูล จึงตอบโจทย์ธุรกิจในด้านการจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และลดความซับซ้อนในการจัดเก็บข้อมูล

 

Cloud Storage มีบริการทั้งหมด 3 รูปแบบ ดังนี้

1. Public Cloud

บริการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลสาธารณะที่ให้บริการผ่านผู้ให้บริการคลาวด์ เหมาะกับองค์กรที่ต้องการความยืดหยุ่นสูง และธุรกิจที่มีงบประมาณจำกัด โดยค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับปริมาณพื้นที่จัดเก็บที่ต้องการ

2. Private Cloud

ระบบคลาวด์ส่วนตัวที่องค์กรบริหารจัดการเอง โดยเป็นการจัดเก็บข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์ส่วนตัวขององค์กร ซึ่งมอบความปลอดภัยสูง เหมาะกับองค์กรที่ต้องการจัดเก็บข้อมูลที่มีความอ่อนไหวสูง

3. Hybrid Cloud

การผสมผสานข้อดีระหว่าง Public และ Private Cloud ทำให้เป็นรูปแบบบริการคลาวด์ที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถแยกจัดเก็บข้อมูลตามระดับความสำคัญ และช่วยให้องค์กรจัดสรรต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Traditional Storage คืออะไร

cloud-storage-vs-traditional-and-software-defined-storage 2

Traditional Storage หรือระบบจัดเก็บข้อมูลแบบดั้งเดิม คือ การจัดเก็บข้อมูลบนอุปกรณ์กายภาพที่องค์กรเป็นเจ้าของและควบคุมดูแลเองได้ จึงมอบการควบคุมความปลอดภัยได้เต็มที่ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ต องค์กรและบุคลากรสามารถเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว อีกทั้งถือเป็น One-Time Investment โดยแม้มีต้นทุนเริ่มต้นที่สูง แต่ก็มีค่าบำรุงรักษาในระยะยาวไม่มากนัก

 

โดยระบบจัดเก็บข้อมูลแบบดั้งเดิมมี 3 ประเภทหลัก ได้แก่

1. Hard Disk Drives (HDDs)

HDDs หรือที่หลายคนคุ้นเคยกันในชื่อ “ฮาร์ดดิสก์” เป็นอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่ใช้เทคโนโลยีแม่เหล็กในการบันทึกข้อมูล โดยมีส่วนประกอบหลักคือจานแม่เหล็ก (Platters) และหัวอ่าน-เขียน (Read/Write Heads) ที่เคลื่อนที่เพื่ออ่านและเขียนข้อมูล โดยมีข้อดีคือ ราคาต่อความจุถูกที่สุด เหมาะสำหรับเก็บข้อมูลจำนวนมาก มีอายุการใช้งานค่อนข้างนาน และมีให้เลือกหลากหลายขนาดและความเร็ว แต่ก็มีความเร็วในการอ่าน-เขียนค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับมาตรฐานของ SSD ที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น อีกทั้งต้องการการดูแลอย่างสม่ำเสมอ

2. Optical Storage

Optical Storage ใช้เทคโนโลยีแสงเลเซอร์ในการอ่านและเขียนข้อมูล โดยข้อมูลถูกบันทึกในรูปแบบของหลุมเล็กๆ บนแผ่นพลาสติกเคลือบสารสะท้อนแสงอย่างแผ่น CD, DVD และแผ่น Blue-Ray ซึ่งข้อได้เปรียบหลักของ Optical Storage คือ อายุการเก็บข้อมูลที่ยาวนาน สามารถพกพาได้สะดวก และมีต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำ

3. Solid-State Drive Storage

อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบ SSD (Solid-State Drive) ที่พัฒนาต่อยอดมาจาก HDD ดั้งเดิม โดยเปลี่ยนจากการใช้จานหมุนในการอ่าน-เขียนข้อมูล เป็นการใช้งาน Flash Memory ซึ่งเป็นชิปรูปแบบหนึ่งในการบันทึกข้อมูลต่างๆ ด้วยส่วนประกอบนี้ จึงช่วยให้ SSD สามารถอ่าน-เขียนข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูง โดยปัจจุบันมีอยู่ 3 ประเภทย่อย คือ SATA SSD, PCIe SSD และ M.2 SSD 

 

 

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน องค์กรใหญ่หลายองค์กรมักจัดเก็บข้อมูลไว้ในเซิร์ฟเวอร์กายภาพ (Physical Server) ที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนต่างๆ รวมถึง HDD หรือ SSD จำนวนมาก เพื่อจัดทำ  On-Premise Data Center หรือศูนย์ข้อมูลภายในองค์กร ซึ่งอาจตั้งอยู่ภายในสำนักงานธุรกิจหรือสถานที่เฉพาะที่องค์กรกำหนดขึ้น

Software-Defined Storage

Software-Defined Storage (SDS) เป็นรูปการจัดเก็บข้อมูลที่แยกซอฟต์แวร์ในการจัดการ (Storage Management Software) ออกจากฮาร์ดแวร์ (Hardware) ทำให้มีความยืดหยุ่นสูงในการบริหารจัดการทรัพยากร โดยระบบจะรวมทรัพยากรการจัดเก็บข้อมูลจากหลายแหล่งเข้าด้วยกัน พร้อมจัดสรรทรัพยากรและขนาดพื้นที่จัดเก็บข้อมูลตามความต้องการของผู้ใช้งาน

 

ในการทำงานของ SDS จะมี Abstraction Layer ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างฮาร์ดแวร์จัดเก็บข้อมูลเช่นเซิร์ฟเวอร์ และแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันที่ใช้ โดย Abstraction Layer จะดูแลการจัดเก็บข้อมูลทั้งหมดแบบรวมศูนย์ (Centralized) ตั้งแต่การควบคุม จัดสรร และบริหารประสิทธิภาพการใช้งาน นอกจากนี้ยังกำหนดนโยบายการใช้งาน ควบคุมการเข้าถึงข้อมูล และจัดการคุณภาพการให้บริการ (QoS) อีกด้วย 

 

โดยทั่วไปบริการ Software-Defined Storage มักมาพร้อมกับฟีเจอร์การจัดการข้อมูลที่ครบครัน เริ่มจาก Data Services ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานพื้นที่จัดเก็บข้อมูล สามารถช่วยลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล (Deduplication) พร้อมทำการบีบอัดข้อมูล (Compression) เข้ารหัสข้อมูลเพื่อความปลอดภัย (Encryption) และจัดสรรพื้นที่แบบยืดหยุ่น (Thin Provisioning) ในขณะที่ระบบป้องกันข้อมูล (Data Protection) จะช่วยรักษาความปลอดภัยของข้อมูลด้วยการทำสำเนาข้อมูลโดยอัตโนมัติ และการรองรับการกู้คืน (Disaster Recovery)

สรุปข้อแตกต่างระหว่าง Storage 3 ประเภท

การเลือกระบบจัดเก็บข้อมูลที่เหมาะสมเป็นหนึ่งในการตัดสินใจสำคัญสำหรับทุกองค์กร เนื่องจากแต่ละประเภทมีจุดเด่นและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน โดย Cloud Storage มีจุดเด่นด้านความยืดหยุ่นและการเข้าถึงผ่านอินเทอร์เน็ต ส่วน Traditional Storage มีจุดแข็งในด้านความปลอดภัยและการควบคุม ในขณะที่ Software-Defined Storage นำเสนอทางเลือกที่สมดุลระหว่างความยืดหยุ่นและการควบคุมข้อมูล 

 

ดังนั้น การเปรียบเทียบคุณลักษณะของระบบจัดเก็บข้อมูลทั้ง 3 ประเภทข้างต้นจะช่วยให้องค์กรสามารถตัดสินใจเลือกระบบที่เหมาะสมกับความต้องการและข้อจำกัดขององค์กรได้ดียิ่งขึ้น

คุณลักษณะ

Cloud Storage

Traditional Storage

Software-Defined Storage

การติดตั้ง (Deployment)

ผ่านอินเทอร์เน็ต

ติดตั้งอุปกรณ์กายภาพ

ติดตั้งซอฟต์แวร์บนเซิร์ฟเวอร์

ความยืดหยุ่น (Flexibility)

สูงมาก

จำกัด

สูง

การขยายขนาด (Scalability)

ทำได้ทันที

ต้องซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม

ปรับขนาดได้ตามต้องการ

ค่าใช้จ่าย (Cost)

จ่ายตามการใช้งาน

(Pay-as-You-Go)

ลงทุนเพียงครั้งเดียว

(One-time investment)

ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งาน

การเข้าถึง (Accessibility)

ทุกที่ทุกเวลาผ่านอินเทอร์เน็ต

จำกัดตามสถานที่ติดตั้ง

ขึ้นอยู่กับการตั้งค่า

ความปลอดภัย (Security)

ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการ

องค์กรควบคุมได้เอง

ปรับแต่งได้ตามต้องการ

องค์กรควรเลือก Storage แบบไหนให้เหมาะกับธุรกิจ

cloud-storage-vs-traditional-and-software-defined-storage 3

การเลือกระบบจัดเก็บข้อมูลที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในยุคดิจิทัล องค์กรควรพิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบด้านเพื่อให้ได้ระบบ Data Storage ที่ตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด

ขนาดและลักษณะธุรกิจ

สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก Cloud Storage มักเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากไม่จำเป็นต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสูง สามารถเริ่มต้นใช้งานได้ทันที และมีค่าใช้จ่ายที่ยืดหยุ่นตามการใช้งานจริง อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องมีทีมไอทีคอยดูแลระบบ

 

ในกรณีของธุรกิจขนาดกลาง การใช้งานแบบผสมผสานอาจเป็นทางเลือกที่ดี โดยใช้ Cloud Storage สำหรับข้อมูลทั่วไปที่ต้องการเข้าถึงบ่อย ในขณะที่เก็บข้อมูลที่มีความอ่อนไหวไว้ใน Server ขององค์กร และอาจพิจารณาใช้ Software-Defined Storage สำหรับระบบที่ต้องการความยืดหยุ่นในการปรับแต่ง


ธุรกิจขนาดใหญ่มักเลือกใช้ Software-Defined Storage หรือระบบผสมผสาน เนื่องจากมีความต้องการควบคุมระบบอย่างเต็มที่ บางองค์กรอาจมีทีมไอทีหรือทีม DevSecOps ที่มีความเชี่ยวชาญ และต้องการความยืดหยุ่นในการขยายระบบ รวมถึงมีความต้องการด้านความปลอดภัยขั้นสูง

ลักษณะของข้อมูล

ลักษณะของข้อมูลเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการเลือกระบบจัดเก็บข้อมูล สำหรับข้อมูลที่ต้องเข้าถึงบ่อย (Hot Data) ควรเลือกใช้ Cloud Storage ที่มีความเร็วสูง หรือ Traditional Storage ที่ใช้ SSD เป็นหลัก ส่วนข้อมูลที่เข้าถึงไม่บ่อย (Cold Data) อาจเลือกใช้ Cloud Storage แบบประหยัด หรือ Traditional Storage ที่ใช้ HDD ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า

 

ในกรณีของข้อมูลที่มีความอ่อนไหวสูง เช่น ข้อมูลทางธุรกรรม หรือข้อมูลส่วนบุคคลที่สามารถระบุตัวตนได้ ควรพิจารณาใช้ Private Cloud Storage หรือ On-Premise Traditional Storage ที่องค์กรสามารถควบคุมความปลอดภัยได้อย่างเต็มที่

งบประมาณและทรัพยากร

ปฏิเสธไม่ได้ว่างบประมาณเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกระบบจัดเก็บข้อมูล สำหรับบริษัทที่มีงบจำกัด สามารถเริ่มต้นด้วย Cloud Storage แบบจ่ายตามการใช้งาน ซึ่งจะช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานและการบำรุงรักษา ส่วนองค์กรที่มีงบประมาณเพิ่มขึ้นมา อาจพิจารณาใช้ระบบผสมผสานระหว่าง Cloud และ Traditional Storage เพื่อสร้างสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและค่าใช้จ่าย

 

องค์กรที่มีงบประมาณสูงสามารถลงทุนในระบบ Enterprise-Grade Software-Defined Storage ที่มาพร้อมกับโซลูชันความปลอดภัยระดับสูงและระบบบริหารจัดการข้อมูลที่ครบวงจร ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและความปลอดภัยของข้อมูลในระยะยาว

การวางแผนเพื่อการเติบโต

การเลือกระบบจัดเก็บข้อมูลไม่ควรคำนึงถึงเพียงความต้องการในปัจจุบัน แต่ควรพิจารณาถึงการเติบโตของธุรกิจในอนาคตด้วย องค์กรที่คาดว่าจะมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วควรเลือกระบบที่สามารถขยายขนาดได้ง่ายและมีความยืดหยุ่นสูง ในขณะที่องค์กรที่มีการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปอาจเลือกระบบที่เริ่มต้นจากขนาดเล็กและค่อยๆ ขยายตามความต้องการ

สรุปได้ว่า การเลือกระบบจัดเก็บข้อมูลที่เหมาะสมจึงไม่ใช่เพียงการพิจารณาปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง แต่ต้องคำนึงถึงภาพรวมทั้งหมดขององค์กร ทั้งในแง่ของขนาดธุรกิจ ลักษณะข้อมูล งบประมาณ ไปจนถึงแผนการเติบโตในอนาคต การตัดสินใจที่รอบคอบจะช่วยให้องค์กรได้ระบบจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่าในระยะยาว

 

SCB TechX บริษัทที่ปรึกษาด้าน Digital Transformation ชั้นนำ พร้อมด้วยทีมงานผู้เชี่ยวชาญ พร้อมที่จะคำแนะนำ และนำเสนอโซลูชันรูปแบบต่างๆ ทั้งบริการ Cloud Solutions รวมไปถึงโซลูชัน DevOps as a Service บน xPlatform  เพื่อช่วยขับเคลื่อนองค์กรของคุณสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

 

หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญงานพัฒนาซอฟต์แวร์ สามารถติดต่อทีม xPlatform ของเราได้ที่  contact@scbtechx.io 

 

 

ติดตาม SCB TechX เพื่ออัปเดตข่าวสารใหม่ๆ ก่อนใคร

Facebook: SCB TechX

Medium: medium.com/scb-techx 

LinkedIn: www.linkedin.com/company/scb-tech-x/

YouTube: SCB TechX

Related Content

  • ทั้งหมด
  • Blogs
  • Insights
  • News
    •   Back
    • Careers
    • Data Science
    • Lifestyle
    • Product
    • Strategy
    • Technology
    • User Experience
    • xPlatform
    • DevOps
    •   Back
    • PointX Products
    • Events
    • Others
    • Leadership
    • Partnership
    • Services & Products
    • Joint ventures
    •   Back
    • Blockchain
    • Finance
    • Tech innovation

Your consent required

If you want to message us, please give your consent to SCB TechX to collect, use, and/or disclose your personal data.

| การเพิกถอนความยินยอม

หากคุณต้องการเพิกถอนการให้ความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ และ/หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล กรุณาส่งคำร้องหาเรา

Vector

Message sent

We have receive your message and We will get back to you shortly.