ทำไมคีย์บอร์ด QWERTY ไม่ใช่ ABCD
ในยุคเริ่มต้นของเครื่องพิมพ์ดีดนั้นไม่ได้ถูกใช้งานกว้างขวางเช่นทุกวันนี้ โดยเครื่องพิมพ์ดีดในช่วงเร่ิมต้นได้ถูกพัฒนาเพื่อตอบสนองกับธุรกิจสิ่งพิมพ์ ถึงแม้ในยุคนั้นจะมีนักประดิษฐ์หลายคนพยายามสร้างเครื่องพิมพ์ดีดหลากหลายแบบ แต่มีกลุ่มนักประดิษฐ์สี่คนที่เป็นผู้สร้างรากฐานเครื่องพิมพ์ดีด และแป้นพิมพ์ที่ใช้มาถึงปัจจุบันนี้ ได้แก่ Christopher Latham Sholes, Samuel W. Soulé, James Densmore และ Carlos Glidden โดยเครื่องพิมพ์ดีดรุ่นแรกมีเพียงสองแถวรูปร่างคล้ายเปียโนโดยเรียงตามตัวอักษรภาษาอังกฤษเพื่อให้ผู้ใช้หาตัวอักษรได้ง่าย แต่หลังจากนั้น Sholes ไม่ได้หยุดพัฒนาเครื่องพิมพ์ดีดเพียงเท่านี้ โดยมีการตั้งสมมติฐานว่าแป้นพิมพ์ที่ออกแบบมานั้นเกิดความเสียหายจากการติดขัด โดยเฉพาะตัวอักษรคู่ที่พบบ่อยในภาษาอังกฤษ เช่น th, he เป็นต้น
กำเนิดแป้นพิมพ์ QWERTY
หลังจากความล้มเหลวในการพัฒนาเครื่องพิมพ์ดีดทำให้ Soulé ท้อและตัดสินใจออกจากกลุ่มนักประดิษฐ์ จึงทำให้เหลือแค่ Sholes และ Glidden เพียงสองคน ส่วน Densmore เป็นเพียงผู้ให้เงินสนับสนุน และในปี 1873 ทั้งคู่ก็ได้สร้างแป้นพิมพ์ที่ลดการติดขัด และทนทานมากขึ้น โดยแป้นพิมพ์คล้ายกับในปัจจุบัน คือมีจำนวน 4 แถว แต่การเรียงตัวอักษรแถวบนเป็น QWE.TY และได้หาผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ดีดคือ Remington & Sons (ปัจจุบันคือ บริษัท RemArms) ผู้ผลิตปืนไรเฟิล ซึ่งในขณะนั้นความต้องการอาวุธปืนได้ลดลงอย่างมากเนื่องจากเป็นช่วงหลังสงคราม Civil war ทางบริษัทจึงได้ซื้อสิทธิบัตรต่อจาก Sholes เพื่อทำการผลิตขาย แต่ในช่วงสุดท้ายก่อนออกที่จะได้ออกจำหน่าย ในปี 1878 Sholes ได้จดสิทธิบัตรใหม่โดยเปลี่ยนแป้นพิมพ์จากแบบเดิมเป็น QWERTY ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแป้นพิมพ์ที่ใช้กันจนถึงปัจจุบัน
QWERTY แป้นพิมพ์ที่ยังคงความลึกลับถึงปัจจุบัน
หลังจาก Sholes ได้ขายสิทธิบัตรเครื่องพิมพ์ให้กับ Remington แต่เขาเองก็ยังไม่หยุดที่จะออกแบบเครื่องพิมพ์ดีดต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเขาเสียชีวิตลงในปี 1890 อย่างไรก็ดีการที่เขาได้เปลี่ยนแป้นพิมพ์ QWERTY นั้นยังเป็นข้อสงสัยต่อนักวิจัยมาจนถึงปัจจุบัน เพราะ er และ re เป็นคู่ตัวอักษรที่พบเจอบ่อยเป็นอันดับต้น ๆ ในภาษาอังกฤษ ซึ่งอาจทำให้เครื่องพิมพ์ดีดเกิดการติดขัด หรือเสียหายได้
แป้นพิมพ์ QWERTY เกิดความ Popular ได้อย่างไร
ถึงแม้ในสมัยนั้นได้มีผู้คิดค้นเครื่องพิมพ์ดีด และแป้นพิมพ์จำนวนไม่น้อย แต่การสร้างตลาดเครื่องพิมพ์ดีดในยุคนั้นได้โดยฝีมือของ Remington ซึ่งนอกจากจะมีความช่ำชองในการผลิตชิ้นส่วนกลไกที่ต้องใช้ความแม่นยำสูง และทนทานแล้ว ทางบริษัทยังได้จัดสอนอบรมการใช้งานเครื่องพิมพ์ดีด และศูนย์บริการ (เป็นการบุกเบิก Business Model นี้เป็นคนแรก ซึ่งถูกนำมาใช้กับ IBM และบริษัทไอทีต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน) โดยโรงเรียนสอนพิมพ์ดีดนั้นได้ให้อบรมแก่ผู้หญิง และเป็นการเปิดโอกาสให้เข้าไปทำงานในสำนักงาน (ที่ใช้เครื่องพิมพ์ดีดจาก Remingtion) มากขึ้นด้วย ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อให้การใช้งานเครื่องพิมพ์ดีดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจึงได้มีการปรับปรุงแป้นพิมพ์ และคิดค้นการพิมพ์แบบสัมผัส จนกระทั่งปี 1893 ผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ดีดเจ้าใหญ่ในสมัยนั้นได้ยอมรับให้แป้นพิมพ์แบบ QWERTY เป็นมาตราฐาน และถูกใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน
การเข้ามาของยุคไฟฟ้า กับแป้นพิมพ์ที่ไม่ได้รับความนิยมนัก
เมื่อยุคไฟฟ้าได้เข้ามาเครื่องพิมพ์ดีดก็ได้ถูกแทนที่ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าซึ่งให้ความสะดวกรวดเร็วในการสื่อสาร รวมทั้งกลไกแป้นพิมพ์ก็ยังถูกเปลี่ยนเป็นไฟฟ้า ถึงแม้ว่าเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้านั้นจะไม่มีกลไกให้เกิดการติดขัด แต่แป้นพิมพ์รูปแบบ QWERTY ก็ยังถูกนำมาใช้เป็นต้นแบบในการผลิต จนกระทั่งช่วงทศวรรษ 1930 ได้มีการทำวิจัย และจดสิทธิบัตรแป้นพิมพ์ทางเลือกโดย Dr. August Dvorak ซึ่งมีแนวคิดการออกแบบให้ตัวอักษรที่ถูกใช้บ่อยอยู่ที่จุดพักนิ้ว (Home row) เพื่อลดการขยับนิ้วมือ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการพิมพ์ และลดการบาดเจ็บข้อมือจากอาการ Repetitive Strain Injury
อย่างไรก็ตามแป้นพิมพ์ Dvorak (ตั้งชื่อตามผู้คิดค้น) นั้นไม่ได้รับความนิยมมากนักเพราะแป้นพิมพ์ QWERTY นั้นได้ครองตลาดผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก และรวมถึงไม่ได้รับความสนใจจากผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ดีดในสมัยนั้น หลังจาก Dvorak พยายามนำเสนอแป้นพิมพ์ของเขาต่อเนื่องอยู่หลายสิบปีแต่ก็ยังไม่ได้ความสนใจ เขาก็ได้เสียชีวิตลงในปี 1975 แต่ในปี 1982 สถาบัน American National Standards Institute (ANSI) ก็ได้ยอมรับให้ Dvorak เป็นแป้นพิมพ์ทางเลือกอีกแบบหนึ่ง (ส่งผลให้ผู้ผลิต OS ใส่แป้นพิมพ์เข้ามา โดยผู้ใช้งานสามารถปรับเปลี่ยนไปใช้แป้นพิมพ์ Dvorak ได้โดยไม่ต้องลงโปรแกรมช่วยเหลือเพิ่มเติม)
กำเนิดแป้นพิมพ์ยุคดิจิตอล
เมื่อยุคของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมาถึง และมีการพัฒนาความสามารถของ OS ที่ปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น ทำให้จำนวนผู้ใช้งานแป้นพิมพ์ Dvorak มากขึ้นเพราะไม่ต้องง้อผู้ผลิตแป้นพิมพ์ แต่แป้นพิมพ์ Dvorak นั้นมีอุปสรรคแก่ผู้ที่จะเปลี่ยนมาใช้ เช่น ความแตกต่างของการจัดวางตัวอักษรระหว่างแป้นพิมพ์ QWERTY และ Dvorak ที่มากเกินไป และ shortcut key ที่อยู่มือซ้ายถูกย้ายออกไป เช่น copy, paste เป็นต้น (Copy/Paste Engineer ไม่ถูกใจสิ่งนี้)
ในปี 2006 Shai Coleman ได้นำเสนอแป้นพิมพ์ Colemax ที่ออกแบบมาปิดจุดด้อยของแป้นพิมพ์ Dvorak ที่กล่าวมา และปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอีก รวมถึงได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงแม้แป้นพิมพ์ Colemax ยังไม่ได้รับเป็นมาตราฐานแต่ผู้พัฒนา OS ก็ได้เพิ่มมาเป็นตัวเลือกแก่ผู้ใช้งาน (สามารถเลือกใช้ได้ใน Mac OS และ Linux แต่ยังไม่รองรับใน Windows)
ทิ้งท้าย —
เห็นได้ว่าแป้นพิมพ์ QWERTY ถูกคิดค้น ถูกเริ่มเผยแพร่การใช้งานจนเลยยุคสมัยของมันมานานมากแล้ว แต่ก็ยังเป็นแป้นพิมพ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากการใช้งาน และการเรียนการสอนต่อ ๆกันมา แต่มันก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด การเรียนรู้ และเปลี่ยนไปใช้แป้นพิมพ์ที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าก็อาจจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะในยุคนี้คงยากที่จะหลีกเลี่ยงการใช้งานอุปกรณ์ต่างโดยไม่ใช้แป้นพิมพ์ หากใครสนใจก็สามารถเข้าไปศึกษา และฝึกฝนกันได้จากลิ้งค์ใน references ข้างล่างได้